คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6319/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง ที่ว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติว่า จำเลยรับไว้โดยประการใดซึ่งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลาง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในชั้นฎีกาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง มีผลเท่ากับว่า จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง อีกทั้งฎีกาต้องห้ามดังกล่าวผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ใช้ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาและสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 มาตรา 4, 8, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 357
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคสอง (เดิม)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน ฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 5 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 7 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง ที่ว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยรับไว้โดยประการใดซึ่งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และเมื่อประเด็นดังกล่าวจำเลยยังไม่เคยหยิบยกโต้แย้งมาก่อนจึงไม่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนที่จำเลยประสงค์จะโต้แย้ง ซึ่งมีผลเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้ มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง อีกทั้งฎีกาต้องห้ามดังกล่าวผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการจะอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ใช้ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้ตามมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาและสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยดังกล่าว จำเลยประสงค์จะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเป็นยุติตามที่จำเลยให้การรับสารภาพ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ปรากฏไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นมาเพื่อขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังที่จำเลยกล่าวอ้างได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้เพื่อค้ากำไร ย่อมมีส่วนส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมประเภทอื่นติดตามมาอีกมากมายก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุผลอื่นตามที่อ้างในฎีกา ก็มิใช่เหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษมานั้น จึงเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท นับว่าผู้เสียหายได้รับการบรรเทาผลร้ายแห่งคดีบ้างแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไร 5 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น นับว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ ให้เหมาะสมสอดคล้องแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไร จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 7 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share