คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวพนักงานสอบสวนมีอำนาจทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบดังนั้น แม้นางน.มารดาของเด็กหญิงล.มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจะเป็นผู้ร้องทุกข์ก็ตาม เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ระหว่างการทำแท้งซึ่งเป็นเวลากลางวัน เด็กหญิงล.มีโอกาสเห็นจำเลยในระยะใกล้ชิดเป็นเวลานานนับชั่วโมงเชื่อได้ว่าเด็กหญิงล. จดจำจำเลยได้แม่นยำไม่ผิดตัว เมื่อพยานโจทก์ทุกปากต่างเบิกความได้สอดคล้องเชื่อมโยงมีเหตุผลทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจำเลยจะถูกเบิกความปรักปรำใส่ร้าย แม้คำเบิกความของพยานโจทก์ บางปากจะขัดแย้งหรือแตกต่างกันไปบ้างก็เป็น เพียงรายละเอียดข้อปลีกย่อยไม่ทำให้คดีโจทก์ต้องเสียไป ข้อต่อสู้ของจำเลยนั้นเลื่อนลอยและขัดกับคำให้การชั้นสอบสวน จึงมีน้ำหนักไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยทำให้เด็กหญิงล.แท้งลูกโดยเด็กหญิงล. ยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1434/2539 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนคดีนี้ว่า จำเลยที่ 2สำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1434/2539 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมิได้เป็นนายแพทย์และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายได้ทำให้เด็กหญิงล. อายุ 14 ปี ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่าเด็กหญิงล.มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบ ดังนั้นแม้นางนารี ทวีคูณ มารดาของเด็กหญิง ล. มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายตามกฎหมายเป็นผู้ร้องทุกข์ก็ตาม เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยทำให้เด็กหญิง ล. แท้งลูกหรือไม่ คดีได้ความจากคำเบิกความของเด็กหญิง ล. ซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่าก่อนเกิดเหตุเด็กหญิง ล.ถูกนายคำปัน แสนเมือง พ่อเลี้ยงกระทำชำเราจนตั้งครรภ์จากนั้นนายคำปันจึงพาเด็กหญิง ล.ไปทำแท้งกับจำเลยนางนารีเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ทราบเรื่องดังกล่าวในภายหลังและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโดยมีพันตำรวจโทชวัลวิทย์ นาคงศรี พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความรับรองได้ความจากคำเบิกความของเด็กหญิง ล.ด้วยว่า ระหว่างการทำแท้งซึ่งเป็นเวลากลางวัน เด็กหญิง ล.มีโอกาสเห็นจำเลยในระยะใกล้ชิดเป็นเวลานานนับชั่วโมงเชื่อได้ว่าเด็กหญิง ล. จดจำจำเลยได้แม่นยำไม่ผิดตัวเมื่อพยานโจทก์ทุกปากต่างเบิกความได้สอดคล้องเชื่อมโยงมีเหตุผลทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจำเลยจะถูกเบิกความปรักปรำใส่ร้าย แม้คำเบิกความของพยานโจทก์บางปากจะขัดแย้งหรือแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดข้อปลีกย่อยไม่ทำให้คดีโจทก์ต้องเสียไปข้อต่อสู้ของจำเลยนั้นเลื่อนลอยและขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนจึงมีน้ำหนักไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำให้เด็กหญิง ล. แท้งลูกโดยเด็กหญิง ล. ยินยอมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share