แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น มาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนั้นคำร้องคัดค้าน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองด้วย ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ข้อ 20 บัญญัติไว้ว่า เมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลงแล้วให้คณะกรรมการ ตรวจคะแนนเก็บบัตรเลือกตั้งที่ใช้นับคะแนนแล้วรายการแสดงผล ของการนับคะแนนหนึ่งฉบับประกาศผลของการนับคะแนนหนึ่งฉบับ และแบบกรอกคะแนนที่ใช้กรอกคะแนนแล้วบรรจุในหีบบัตรเลือกตั้ง แล้วปิดหีบบัตรเลือกตั้งใส่กุญแจประจำครั่งทับรูกุญแจไว้ และให้เอากระดาษปิดทับช่องใส่บัตรเลือกตั้ง โดยมีลายมือชื่อ คณะกรรมการตรวจคะแนนกำกับไว้บนกระดาษนั้นด้วย และข้อ 21 บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการตรวจคะแนนอ่านประกาศผลของการ นับคะแนนแก่ประชาชนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น แล้วปิดประกาศนั้นไว้ ณ ที่เลือกตั้งหนึ่งฉบับ แสดงให้เห็นว่า ณ ที่เลือกตั้งทั้ง 93 หน่วย แต่ละหน่วยย่อมจะต้องปิดประกาศผลของการนับคะแนน (ส.ส. 5) ณ ที่เลือกตั้งว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดสังกัด พรรคใดได้คะแนนเท่าใดปรากฏชัดแจ้ง ณ ที่เลือกตั้งนั้นแล้ว แต่ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองกลับร้อง คัดค้านการเลือกตั้งโดยอาศัยคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และ ผู้ร้องที่ 2 ตามเอกสารซึ่งเป็น แบบรายงานการนับคะแนนไม่ เป็นทางการเป็นมูลเหตุในการคัดค้านการเลือกตั้ง ย่อมเป็นที่ เห็นได้ว่าผลรวมคะแนนตามแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าผลของการรวมคะแนนนั้นอาจมี ข้อผิดพลาดได้ ส่วนการที่ต้องรายงานไม่เป็นทางการก่อนก็ เพียงการอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสาร รวดเร็วเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสองร้องคัดค้าน การเลือกตั้งโดยอาศัยแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการ จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางราชการได้มาเป็นมูลเหตุของการ คัดค้านโดยไม่ปรากฏว่ารายงานแสดงผลของการนับคะแนน (ส.ส.4) และประกาศผลของการนับคะแนน (ส.ส.5) อันเป็นคะแนนที่เป็น ทางการและปิดประกาศ ณ ที่เลือกตั้งว่าคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 มีอยู่อย่างไร ถูกต้องตรงกับจำนวนคะแนน ตามเอกสารหรือไม่ ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองอ้างอิงคะแนนที่ ไม่แน่นอนและไม่ชัดแจ้งมาเป็นมูลเหตุแห่งการคัดค้านการ เลือกตั้ง และที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวมาในคำร้องคัดค้าน การเลือกตั้งว่าผู้คัดค้านที่ 1 และนายอำเภอจตุรพักตรพิมาน กับพวกร่วมกันไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และขัดขวางมิให้การเป็นไป ตามกฎหมายด้วยการทำลายครั่งทับรูกุญแจเปิดหีบบัตรเลือกตั้ง 14 หีบ เพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายงานแสดงผลของ การนับคะแนนที่บรรจุในหีบบัตรเลือกตั้งจำนวน 14 หีบ ดังกล่าว นั้น ผู้ร้องทั้งสองก็ควรที่จะได้กล่าวโดยละเอียดว่าเดิม ผลของการนับคะแนน (ส.ส.5) ที่บรรจุในหีบบัตรเลือกตั้ง แต่ละหีบคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 มีจำนวน เท่าใด เมื่อมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแล้วเป็นผลให้จำนวน คะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 เพิ่มขึ้นคนละ เท่าใดอันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าใจ ข้อหาได้ดี แต่ก็มิได้กล่าวไว้ คำร้องของผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน 2539 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539ผู้ร้องที่ 1 เป็นพรรคการเมืองจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ปัจจุบันนายสุเมธพรมพันห่าว เป็นผู้รักษาการหัวหน้าพรรค ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้สมัครคนหนึ่งในนามสมาชิกสังกัดพรรคผู้ร้องที่ 1 มีเครื่องหมายประจำตัวหมายเลข 10 ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งประกอบด้วยอำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอจตุรพักตรพิมานอำเภอจังหาร อำเภอธวัชบุรี อำเภอศรีสมเด็จ และกิ่งอำเภอเชียงขวัญในเขตเลือกตั้งดังกล่าวให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 3 คน มีผู้สมัคร 27 คน เมื่อปิดการลงคะแนนเลือกตั้งแล้วคณะกรรมการตรวจคะแนนของอำเภอจตุรพักตรพิมาน ซึ่งมี 93 หน่วยเลือกตั้งได้นับคะแนนเปิดเผยจนเสร็จในรวดเดียว ประกาศผลของการนับคะแนนณ ที่เลือกตั้งบรรจุบัตรเลือกตั้งที่นับคะแนน และแบบกรอกคะแนนประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนในหีบบัตรเลือกตั้งปิดหีบใส่กุญแจประจำครั่งทับรูกุญแจไว้ แล้วส่งประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนพร้อมหีบบัตรเลือกตั้งดังกล่าวและลูกกุญแจตามที่กำหนดในกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522ไปยังนายอำเภอจตุรพักตรพิมานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายทั้ง 93 หน่วย นายอำเภอจตุรพักตรพิมานรับมอบแล้วจึงรวบรวมประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนพร้อมรายงานคะแนนผู้สมัครแต่ละคนได้จาก 93 หน่วย เลือกตั้งส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายตามแบบที่ราชการทำขึ้นเป็นหลักฐานตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนที่ชอบด้วยกฎหมายจากอำเภอจตุรพักตรพิมานรวม 93 หน่วย จำนวน 14, 152 คะแนน และ 10,152 คะแนน ตามลำดับ จังหวัดร้อยเอ็ดตรวจสอบถูกต้องเป็นครั้งที่ 3 แล้วจึงกรอกคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้จากแต่ละอำเภอ รวมทั้งจากอำเภอจตุรพักตรพิมาน ลงไว้เป็นหลักฐานในแบบรวมคะแนนของเขตเลือกตั้งที่ 1 ยกเว้นอำเภอเมืองร้อยเอ็ดยังไม่กรอกประวิงไว้เพื่อคำนวณล่วงรู้ก่อนว่าผู้สมัครคนใดที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 นายฉลาด ขามช่วงนายเวียง วรเชษฐ์ นายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ และผู้ร้องที่ 2ต่างเป็นผู้มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมีคะแนนที่ชอบด้วยกฎหมายจากทุกหน่วยทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอเมืองร้อยเอ็ดจำนวน 55,729 คะแนน 50,864 คะแนน 68,597 คะแนน 60,552 คะแนน และ 48,257 คะแนน ตามลำดับตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4 แต่ปรากฏว่าในอำเภอเมืองร้อยเอ็ด ผู้คัดค้านที่ 2 นายฉลาด นายเวียง นายเศกสิทธิ์ และผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวน 29,098 คะแนน 35,424 คะแนน 21,689 คะแนน 22,349 คะแนน และ 36,613 คะแนนตามลำดับ ดังนั้น ในเขตเลือกตั้งที่ 1 เมื่อรวมคะแนนที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเรียงตามลำดับคะแนนแล้ว นายเวียงได้ลำดับที่ 1 จำนวน 90,286 คะแนน นายฉลาดได้ลำดับที่ 2 จำนวน 86,288 คะแนน ผู้ร้องที่ 2 ได้ลำดับที่ 3 จำนวน 84,870 คะแนน ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ลำดับที่ 4 จำนวน 84,827 คะแนน นายเศกสิทธิ์ได้ลำดับที่ 5 จำนวน 82,901 คะแนน จึงชอบที่ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องประกาศผลการเลือกตั้งเป็นทางการให้ชอบด้วยกฎหมาย โดยประกาศให้ผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ผู้คัดค้านที่ 1 หาได้ประกาศเช่นนั้นไม่กลับจงใจสมคบกับนายอำเภอจตุรพักตรพิมานและพวกร่วมกันไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 51 มาตรา 52 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ด้วยการทำลายครั่งทับรูกุญแจเปิดหีบบัตรเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งในอำเภอจตุรพักตรพิมานรวม 14 หีบ ที่อยู่ในการเก็บรักษาของนายอำเภอจตุรพักตรพิมานเมื่อการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 69แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบัตรเลือกตั้ง แบบกรอกคะแนนประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนที่บรรจุอยู่ในหีบดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 2 ชนะการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้หีบบัตรตำบลหัวช้างหน่วยเลือกตั้งที่ 2 หมู่ที่ 1 ไม่มีครั่งทับรูกุญแจ แต่มีเทียนไขหยดอุดรูไว้แทน และหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 9มีวัตถุสีขาวคล้ายกระดาษอุดอยู่ในกุญแจแทนครั่งทับรูอยู่เดิมหีบบัตรตำบลศรีโคตร หน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 5 ไม่มีครั่งทับรูกุญแจ สภาพกุญแจใหม่ หีบบัตรตำบลโคกล่ามหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 1 มีเทียนไขอุดรูกุญแจหีบบัตรตำบลดู่น้อย หน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีครั่งทับรูกุญแจ มีแต่เทียนไขหยดอุดรูกุญแจไว้ หีบบัตรตำบลน้ำใสหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 1 สภาพกุญแจใหม่ ไม่มีครั่งทับรูกุญแจ หีบบัตรตำบลอี่ง่อง หน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 2ไม่มีสิ่งใดอุดรูกุญแจ ข้างรูมีครั่งสีแดงติดอยู่เล็กน้อยมีการแก้ไขจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยขีดฆ่าจากจำนวน 433 เป็น 439 และ 232 เป็น 235 และ 201 เป็น 204 หีบบัตรตำบลหนองผือหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 2 และหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 3มีรอยหยดครั่ง แต่ครั่งหลุดสามารถไขกุญแจเปิดหีบบัตรได้หีบบัตรตำบลลิ้นฟ้า หน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 2 สภาพกุญแจใหม่มีรอยครั่งหลุดไป มีกระดาษอุดที่รูกุญแจและหยดเทียนไขไว้หน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 6 ไม่มีครั่งทับรูกุญแจ แต่มีติดอยู่ที่ขอบแม่กุญแจเล็กน้อย และหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 8 และที่ 9 ไม่มีครั่งทับรูกุญแจ สภาพกุญแจใหม่ หีบบัตรตำบลดงกลางหน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 2 และหีบบัตรตำบลเมืองหงส์หน่วยเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 5 ไม่มีครั่งทับรูกุญแจและทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนน ในอำเภอจตุรพักตรพิมานเพิ่มขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากจำนวน 14,152 เป็น 14,951 คะแนน เพิ่มขึ้นจำนวน 799 คะแนน และจากจำนวน 10,152 เป็น 10,381 คะแนนเพิ่มขึ้นจำนวน 229 คะแนนตามลำดับ แล้วผู้คัดค้านที่ 1 จึงนำคะแนนจำนวนที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมารวมเป็นคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 และประกาศผลการเลือกตั้งเป็นทางการให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3ผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดที่ผู้คัดค้านที่ 1 ประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นการประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมิชอบขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดนั้นเป็นไปโดยมิชอบและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ดเฉพาะแต่ผู้คัดค้านที่ 2ที่ถูกคัดค้าน
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าใครเป็นผู้ทำลายครั่งทับรูกุญแจและทำลายด้วยวิธีใดในวันเวลาและสถานที่ใดบัตรเลือกตั้งในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละหีบมีการเปลี่ยนแปลงคะแนนจากเลขใดเป็นเลขใด ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากหีบบัตรเลือกตั้งหน่วยใด เพิ่มขึ้นคนละเท่าใดขอให้ยกคำร้อง
นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งที่ 1ได้ดำเนินการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกประการ ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยขอเอาคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ด้วย
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ศาลให้รอสั่งคำร้องดังกล่าวในคำสั่งหรือคำพิพากษา
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดไต่สวนคำร้องและทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาว่าคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองและผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองด้วย พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้องทั้งสองโดยตลอดแล้ว ผู้ร้องทั้งสองอ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งว่าเมื่อปิดการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการตรวจคะแนนของอำเภอจตุรพักตรพิมานซึ่งมี 93 หน่วยเลือกตั้ง ได้นับคะแนนโดยเปิดเผยจนเสร็จในรวดเดียวประกาศผลของการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งบรรจุบัตรเลือกตั้งที่นับคะแนนแล้ว แบบกรอกคะแนน ประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนพร้อมหีบบัตรเลือกตั้งดังกล่าวไปยังนายอำเภอจตุรพักตรพิมาน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง นายอำเภอจตุรพักตรพิมานรวบรวมประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนพร้อมรายงานคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้จาก 93 หน่วยเลือกตั้งดังกล่าวส่งไปยังผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายตามแบบที่ทางราชการทำขึ้นเป็นหลักฐานตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ได้คะแนนทั้ง 93 หน่วยเลือกตั้ง 14,152 คะแนน ผู้ร้องที่ 2 ได้ 10,152 คะแนนเมื่อรวมคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนทุกอำเภอ ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลขที่ 4 และ 5 แล้ว ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ปรากฏว่านายเวียง วรเชษฐ์ ได้ลำดับที่ 1 จำนวน 90,286 คะแนนนายฉลาด ขามช่วง ได้ลำดับที่ 2 จำนวน 86,288 คะแนนผู้ร้องที่ 2 ได้ลำดับที่ 3 จำนวน 84,870 คะแนน ผู้คัดค้านที่ 2ได้ลำดับที่ 4 จำนวน 84,827 คะแนน ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ผู้คัดค้านที่ 1จงใจสมคบกับนายอำเภอจตุรพักตรพิมานและพวกร่วมกันไม่ปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายด้วยการทำลายครั่งทับรูกุญแจ เปิดหีบบัตรเลือกตั้งหน่วยเลือกตั้งในอำเภอจตุรพักตรพิมาน จำนวน 14 หีบ ที่อยู่ในการเก็บรักษาของนายอำเภอจตุรพักตรพิมาน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบัตรเลือกตั้ง แบบกรอกคะแนน ประกาศและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนที่บรรจุในหีบบัตรเลือกตั้งจำนวน 14 หีบ ดังกล่าวทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 14,152 คะแนนเป็น14,951 คะแนน และผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 10,152 คะแนน เป็น 10,381 คะแนน ผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำคะแนนที่เพิ่มขึ้นโดยมิชอบดังกล่าวรวมเป็นคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2และประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้คะแนนลำดับที่ 3และผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนลำดับที่ 4 ซึ่งเป็นผลให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้ง เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ข้อ 20 บัญญัติไว้ว่าเมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลงแล้วให้คณะกรรมการตรวจคะแนนเก็บบัตรเลือกตั้งที่ใช้นับคะแนนแล้วรายงานแสดงผลของการนับคะแนนหนึ่งฉบับ ประกาศผลของการนับคะแนนหนึ่งฉบับ และแบบกรอกคะแนนที่ใช้กรอกคะแนนแล้วบรรจุในหีบบัตรเลือกตั้งแล้วปิดหีบบัตรเลือกตั้งใส่กุญแจประจำครั่งทับรูกุญแจไว้ และให้เอากระดาษปิดทับช่องใส่บัตรเลือกตั้ง โดยมีลายมือชื่อคณะกรรมการตรวจคะแนนกำกับไว้บนกระดาษนั้นด้วย และข้อ 21 บัญญัติว่าให้ประธานกรรมการตรวจคะแนนอ่านประกาศผลของการนับคะแนนแก่ประชาชนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น แล้วปิดประกาศนั้นไว้ ณ ที่เลือกตั้งหนึ่งฉบับ แสดงให้เห็นว่า ณ ที่เลือกตั้งทั้ง 93 หน่วยแต่ละหน่วยย่อมจะต้องปิดประกาศผลของการนับคะแนน (ส.ส.5)ณ ที่เลือกตั้งว่าผู้สมัครรับสมัครเลือกตั้งคนใดสังกัดพรรคใดได้คะแนนเท่าใดปรากฏชัดแจ้ง ณ ที่เลือกตั้งนั้นแล้ว ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองน่าเชื่อว่า ได้มีการปิดประกาศผลของการเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งแล้ว แต่ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองผู้ร้องทั้งสองกลับร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยอาศัยคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3ซึ่งเป็นแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการเป็นมูลเหตุในการคัดค้านการเลือกตั้ง ผู้ร้องทั้งสองควรจะได้กล่าวโดยละเอียดพอสมควรว่า คะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และของผู้ร้องที่ 2ตามที่ปรากฏในเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ดังกล่าว เป็นคะแนนที่ได้มาจากผลของการนับคะแนน (ส.ส.5) ทั้ง 93 หน่วยเลือกตั้งหรือไม่ อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี แต่ผู้ร้องทั้งสองมิได้กล่าว และที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวมาในคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และนายอำเภอจตุรพักตรพิมานกับพวกร่วมกันไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายด้วยการทำลายครั่งทับรูกุญแจเปิดหีบบัตรเลือกตั้ง 14 หีบ เพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายงานแสดงผลของการนับคะแนนที่บรรจุในหีบบัตรเลือกตั้งจำนวน14 หีบ ดังกล่าวนั้น ผู้ร้องทั้งสองก็ควรที่จะได้กล่าวโดยละเอียดว่าเดิมผลของการนับคะแนน (ส.ส.5) ที่บรรจุในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละหีบคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 มีจำนวนเท่าใด เมื่อมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแล้วเป็นผลให้จำนวนคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 เพิ่มขึ้นคนละเท่าใดอันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี แต่ก็มิได้กล่าวไว้อีกเช่นกัน การที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวเพียงว่า เมื่อมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแล้วผู้คัดค้านที่ 2 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 14,152 คะแนน เป็น 14,951 คะแนน ผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 10,152 คะแนน เป็น 10,381 คะแนน ก็โดยอาศัยจำนวนคะแนนตามแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ดังกล่าวเป็นฐานจำนวนคะแนนมาเป็นเหตุแห่งการคัดค้านการเลือกตั้ง ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า ผลรวมคะแนนตามแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าผลของการรวมคะแนนนั้นอาจมีข้อผิดพลาดได้ ส่วนการที่ต้องรายงานไม่เป็นทางการก่อนก็เพียงการอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารรวดเร็วเท่านั้น ที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวว่าเมื่อรวมคะแนนของเขตเลือกตั้งที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ได้คะแนนลำดับที่ 3 จำนวน 84,870 คะแนน ผู้คัดค้านที่ 2ได้ลำดับที่ 4 จำนวน 84,827 คะแนน เท่ากับอ้างว่าผู้ร้องที่ 2ได้คะแนนมากกว่าผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 43 คะแนน ก็โดยการอ้างอิงคะแนนตามแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 และหมายเลข 4 เป็นฐานในการคำนวณเช่นเดียวกัน สรุปแล้ว ผู้ร้องทั้งสองร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยอาศัยแบบรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการ ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางราชการได้มาเป็นมูลเหตุของการคัดค้านโดยไม่ปรากฏว่ารายงานแสดงผลของการนับคะแนน (ส.ส.4) และประกาศผลของการนับคะแนน (ส.ส.5) อันเป็นคะแนนที่เป็นทางการ และปิดประกาศ ณ ที่เลือกตั้งว่าคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องที่ 2มีอยู่อย่างไร ถูกต้องตรงกับจำนวนคะแนนตามเอกสารท้ายคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองอ้างอิงคะแนนที่ไม่แน่นอนและไม่ชัดแจ้งมาเป็นมูลเหตุแห่งการคัดค้านการเลือกตั้งหากศาลวินิจฉัยว่าคำร้องเช่นนี้เป็นคำร้องที่ชอบแล้วผลที่ตามมาก็คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดเพียงแต่สงสัยว่าคะแนนของตนตามรายงานการนับคะแนนไม่เป็นทางการแตกต่างกับคะแนนของผู้รับเลือกตั้งตามประกาศผลการเลือกตั้งแล้วก็อาจยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อให้ศาลทำหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (ส.ส.4) ให้ใหม่ทุกรายไป คำร้องของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่อาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นอีก”
ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง