แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องด้วยเหตุใดคงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองมีลักษณะแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น จะแตกต่างกันส่วนไหน อย่างไร จึงเห็นได้ชัดเจนไม่ได้ระบุไว้ ดังนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งในฎีกาเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BEEBYFARRIS”และรูปหัวคนอินเดียนแดงกับกางเกงยีนของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2525จำเลยที่ 2 มีอาชีพขายเสื้อผ้ามานานถึงประมาณ 50 ปี ย่อมทราบว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน จำเลยทั้งสองนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาทำการดัดแปลงใช้กับสินค้าประเภทกางเกงยีนเช่นเดียวกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของตนขึ้นเอง จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ากางเกงยีนในลักษณะเป็นตราสลากติดกับสินค้าเช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะมีลักษณะของตัวอักษรคำว่า “Leeman” กับคำว่า “BEEBYFARRIS”กำกับอยู่แตกต่างกัน แต่คำว่า “Lee” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับคำว่า “BEE” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยตัวอักษรเกือบเหมือนกันทุกตัวแตกต่างกันเฉพาะตัวอักษรตัวแรกระหว่าง L กับ B เท่านั้นเครื่องหมายทั้งสองอาจเรียกขานได้ว่า ตราศีรษะอินเดียนแดงเหมือนกันเมื่อใช้กับสินค้ากางเกงยีนเช่นเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ทำละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์นำสืบว่าความเสียหายของโจทก์มีมากน้อยเพียงใดไม่ได้แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันว่า “BEE BY FARRIS” (บี บาย แฟรีส) และรูปหัวคนอินเดียนแดงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตั้งแต่ปี 2525โจทก์ใช้เครื่องหมายดังกล่าวกับสินค้าประเภทกางเกงยีนที่โจทก์ผลิตออกจำหน่าย จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยใช้อักษรโรมันว่า “LEE MAN” (ลีแมน) และรูปตัวคนอินเดียนแดงมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าประเภทกางเกงยีนที่จำเลยทั้งสองผลิตและจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองผลิตและจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากยอดจำหน่ายสินค้าลดลงร้อยละ 40 โจทก์ขาดรายได้จากกำไรเป็นเงินเดือนละ 240,000 บาท นับตั้งแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 21 เดือนเศษ คิดเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน5,040,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังขาดรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,040,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าประเภทกางเกงยีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตออกจำหน่ายอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองไม่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าตามที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นสินค้าของจำเลยทั้งสอง ไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้องเพราะกางเกงยีนของโจทก์ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน โจทก์จำหน่ายกางเกงยีนได้เดือนละ 200 ตัว ได้กำไรไม่เกิน 2,000 บาทหากโจทก์จำหน่ายกางเกงยีนได้ลดลงก็เนื่องจากคุณภาพไม่ดีและมีสินค้าอื่น ๆ วางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทกับกางเกงยีนของจำเลยทั้งสองต่อไป
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้เปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวของโจทก์แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างเป็นรูปหัวคนอินเดียนแดงเหมือนกันมีอักษรและเรียกขานเหมือนกันคือ “BEE BY FARRIS” อ่านว่า”บี บาย แฟรีส” กับตัวผึ้งเหมือนกัน คงต่างกันเฉพาะอักษรตัว “E” เท่านั้น โดยอักษรตัว “E” ที่จดทะเบียนไว้เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ส่วนที่โจทก์ใช้กับสินค้ากางเกงยีนเป็นอักษร e ตัวพิมพ์เล็กสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่รูปหัวคนอินเดียนแดง และคำว่า”BEE” ซึ่งมีรูปและเรียกขานเหมือนกันดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย ล.3 ก็คือเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ใช้กับสินค้ากางเกงยีนตามวัตถุพยานหมายจ.1 และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 หรือตามวัตถุพยานหมาย จ.1 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว มีลักษณะแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามวัตถุพยานหมาย จ.2 อย่างเห็นได้ชัดเจนนั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องด้วยเหตุใด คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองมีลักษณะแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น จะแตกต่างกันส่วนไหน อย่างไรจึงเห็นได้ชัดเจนไม่ได้ระบุไว้ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งในฎีกา เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองโดยไม่มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์นั้น เห็นว่าคดีได้ความว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ากับกางเกงยีนของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2525 โจทก์ได้ประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2528 และจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ากับกางเกงยีนปี 2529 จำเลยที่ 2 มีอาชีพขายเสื้อผ้ามานานถึงประมาณ 50 ปีย่อมทราบว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจึงมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาทำการดัดแปลงใช้กับสินค้าประเภทกางเกงยีนเช่นเดียวกันกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของตนขึ้นเอง แต่นำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาดัดแปลงเพียงเล็กน้อย จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้า>กับสินค้ากางเกงยีนในลักษณะเป็นตราสลากติดกับสินค้าเช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะมีลักษณะของตัวอักษรคำว่า “Lee man” กับคำว่า “BEE BY FARRIS” กำกับอยู่แตกต่างกันแต่คำว่า “Lee” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยตัวอักษรเกือบเหมือนกันทุกตัว แตกต่างกันเฉพาะตัวอักษรตัวแรกระหว่าง L กับ B เท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายทั้งสองอาจเรียกขานได้ว่า ตราศีรษะอินเดียนแดงเหมือนกัน เมื่อใช้กับสินค้ากางเกงยีนเช่นเดียวกันย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ก็ต้องได้รับความเสียหาย ส่วนความเสียหายของโจทก์จะมีมากน้อยเพียงใดแม้โจทก์นำสืบไม่ได้ แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 100,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว หาเกินสมควรไม่
พิพากษายืน