คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 กับพวกร่วมกันขู่บังคับให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อในเช็ค 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้จำเลยกับพวก แต่เจตนาของจำเลยทั้งสามกับพวกประสงค์ที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วม ไปในทันทีนั้นเอง เพราะขณะที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารนั้น โจทก์ร่วมยังถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2และป. ควบคุมตัวไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก
สำหรับ ป. แม้จะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงป. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7243/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีนายประเจิดหรือแขก อุไรวงศ์ เป็นจำเลยถูกฟ้องข้อหาเดียวกัน คดีดังกล่าวถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,337, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ในการกระทำผิดของกลาง ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 93,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายชาญ ธนะหล่อเสรีผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามและนายประเจิดอุไรวงศ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7243/2528 ของศาลชั้นต้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี กระทงหนึ่งจำคุกคนละ 18 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337, วรรคสอง (2) อีกกระทงหนึ่งจำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปี และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7 ประกอบด้วยมาตรา 72วรรคหนึ่ง กระทงหนึ่ง จำคุก 2 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา8 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 23 ปีลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 15 ปี 4 เดือนสำหรับนายประเจิด อุไรวงศ์ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกไว้ 13 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามและนายประเจิด อุไรวงศ์ ร่วมกันคืนเงิน 93,000 บาท จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2526 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา นายชาญ ธนะหล่อเสรีโจทก์ร่วมถูกคนร้ายใช้มีดปลายแหลมและอาวุธปืนจี้ขู่บังคับจับตัวไปคนร้ายค้นเอาเงินสดในกระเป๋าของโจทก์ร่วมไป 3,000 บาท ต่อมาคนร้ายค้นพบสมุดเช็คของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเช็คของธนาคารสหธนาคาร จำกัดสาขาบางเขน คนร้ายบังคับให้โจทก์ร่วมเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินสดให้แก่คนร้าย 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 90,000 บาท 2 ฉบับ และจำนวนเงิน50,000 บาท อีกหนึ่งฉบับ คนร้ายนำเช็คฉบับหนึ่งจำนวนเงิน 90,000 บาทไปเบิกเงินจากธนาคารดังกล่าว ตอนค่ำวันเกิดเหตุ คนร้ายปล่อยตัวโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนและมีดเป็นอาวุธใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด และกรรโชกหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่…พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่3 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะโดยจำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนเพื่อกระทำผิดด้วย และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อหากรรโชกนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 กับพวกร่วมกันขู่บังคับให้โจทก์ร่วมลงลายมือในเช็ค 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้จำเลยกับพวก แต่เจตนาของจำเลยทั้งสามกับพวกประสงค์ที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปในทันทีนั้นเอง เพราะขณะที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางเขนนั้น โจทก์ร่วมยังถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายประเจิดควบคุมตัวไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้น อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเองการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกสำหรับนายประเจิดหรือแขก อุไรวงศ์แม้จะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงนายประเจิดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วนไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาฐานกรรโชกสำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และนายประเจิดหรือแขก อุไรวงศ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7243/2528 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share