แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3กับพวกร่วมกันขู่บังคับให้โจทก์ร่วมลงลายมือในเช็ค สั่งจ่ายเงินให้จำเลยกับพวก แต่เจตนาของจำเลยกับพวกประสงค์ที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปในทันทีนั้นเอง เพราะขณะที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคาร โจทก์ร่วมยังถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2กับพวกที่เหลือควบคุมตัวไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้น อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก ในคดีที่รวมพิจารณา 2 สำนวน จำเลยสำนวนหนึ่งฎีกา เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องข้อหากรรโชกตลอดไปถึงจำเลยอีกสำนวนหนึ่งซึ่งถูกฟ้องข้อหาเดียวกันที่มิได้ฎีกาได้ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 91, 337, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 ริบของกลาง ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 93,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายชาญ ธนะหล่อเสรี ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสามและนายประเจิด อุไรวงศ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7243/2528 ของศาลชั้นต้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 กระทงหนึ่งจำคุกคนละ 18 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,337 วรรคสอง(2) อีกกระทงหนึ่งจำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปีและจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7ประกอบด้วยมาตรา 72 วรรคหนึ่ง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 กระทงหนึ่ง จำคุก 2 ปีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 23 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 15 ปี 4 เดือนสำหรับนายประเจิด อุไรวงศ์ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกไว้ 13 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามและนายประเจิด อุไรวงศ์ ร่วมกันคืนเงิน 93,000 บาท แก่ผู้เสียหายนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่11 สิงหาคม 2526 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา นายชาญ ธนะหล่อเสรีโจทก์ร่วมถูกคนร้ายใช้มีดปลายแหลมและอาวุธปืนจี้ขู่บังคับจับตัวไปคนร้ายค้นเอาเงินสดในกระเป๋าของโจทก์ร่วมไป 3,000 บาท ต่อมาคนร้ายค้นพบสมุดเช็คของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเช็คของธนาคารสหธนาคารจำกัด สาขาบางเขน คนร้ายบังคับให้โจทก์ร่วมเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินสดให้แก่คนร้าย 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 90,000 บาท 2 ฉบับและจำนวนเงิน 50,000 บาท อีกหนึ่งฉบับ คนร้ายนำเช็คฉบับหนึ่งจำนวนเงิน 90,000 บาท ไปเบิกเงินจากธนาคารดังกล่าว ตอนค่ำวันเกิดเหตุ คนร้ายปล่อยตัวโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนและมีดเป็นอาวุธใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด และกรรโชกหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ร่วมปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2526 เวลาประมาณ7 นาฬิกา โจทก์ร่วมขับรถเก๋งยี่ห้อโตโยต้ากลับจากไปส่งลูกที่โรงเรียนปานะพันธ์ มาตามซอยลาดพร้าว 7 เพื่อกลับบ้านรถในซอยติด มีคนร้าย 2 คน เปิดประตูเข้ามานั่งในรถของโจทก์ร่วมจำได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เข้ามานั่งหน้าข้างโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งที่เบาะหลังแล้วขอให้โจทก์ร่วมไปส่งที่ถนนรัชดาภิเษก เมื่อไปถึงเห็นมีรถยนต์ยี่ห้อไดฮัทสุสีแดงจอดอยู่ 1 คัน จำเลยที่ 3 บอกให้จอด พอโจทก์ร่วมจอดจำเลยที่ 3ใช้มือหนึ่งจับด้ามมีดอีกมือหนึ่งจับปลายมีดหันคมมีดเข้าหาคอโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 เปิดประตูรถเข้ามานั่งคู่กับจำเลยที่ 3โจทก์ร่วมเห็นนายฮะออกมาจากรถยนต์ไดฮัทสุคันนั้นเข้ามานั่งที่คนขับแทนโจทก์ร่วม เห็นนายประเจิดหรือแขก อุไรวงศ์ นั่งอยู่บนทางเท้า นายฮะส่งถุงกระดาษให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 พูดว่าป๋าเพื่อความปลอดภัยอย่าขัดขืน นายฮะขับรถยนต์ของโจทก์ร่วมเลี้ยวออกถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งหน้าไปทางดอนเมือง นายประเจิดขับรถไดฮัทสุตามมา ขณะจะขึ้นสะพานลอยบางเขน จำเลยที่ 3บังคับให้โจทก์ร่วมมานั่งเบาะหลัง จำเลยที่ 3 นั่งข้างซ้ายใช้มีดจี้จำเลยที่ 1 นั่งข้างขวาใช้อาวุธปืนสั้นจ่อที่เอว ก่อนจะถึงรังสิต จังหวัดปทุมธานี นายฮะแวะปั๊มน้ำมันนายประเจิดเดินเข้ามา นายฮะพูดขอเงินโจทก์ร่วมเติมน้ำมัน 200 บาท โจทก์ร่วมล้วงเงินจากกระเป๋าเสื้อด้านซ้ายให้ไปเงินยังเหลืออยู่ 3,600 บาทนายฮะเห็นจึงล้วงเอาไป 3,000 บาท ต่อจากนั้นนายฮะขับรถเลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปจังหวัดปทุมธานี แล้วเลี้ยวขวาจะไปอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายฮะบอกไม่ให้จำเลยที่ 1ที่ 3 จี้โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงเอาปืนและมีดออกไปนายฮะขับรถไปถึงบ้านที่กำลังก่อสร้างก็หยุดแล้วลงไป สักครู่กลับมาบอกว่ายังไม่มาเลย นายฮะขับรถต่อไปผ่านศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วขับย้อนกลับทางเดิมผ่านบ้านที่กำลังก่อสร้างไปประมาณ 1 กิโลเมตร ยางรถยนต์ไดฮัทสุแตก 2 ล้อนายฮะขับรถกลับไปทางศูนย์ศิลปาชีพอีกเพื่อเอายางไปปะและขอเงินโจทก์ร่วมไป 100 บาท บอกว่าจะเอาไปซื้อข้าว แต่หาสถานที่ปะยางไม่ได้ นายฮะจึงขับรถไปรับนายประเจิด แล้วขับย้อนกลับมาผ่านบ้านที่กำลังก่อสร้าง นายฮะลงไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งเดินอยู่ที่ปากซอยและพามาขึ้นรถยนต์ของโจทก์ร่วม นายฮะขับต่อไปถึงที่เปลี่ยวก็หยุดและตรวจค้นรถยนต์ของโจทก์ร่วมพบสมุดเช็คของโจทก์ร่วม 1 เล่ม นายฮะบอกว่าป๋าเซ็นให้ผม 30,000 บาท โจทก์ร่วมบอกว่าเงินในธนาคารมีประมาณ 50,000 บาท ในที่สุดโจทก์ร่วมถูกบังคับให้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับหนึ่ง50,000 บาท ส่วนอีกสองฉบับ ๆ ละ 90,000 บาท เป็นเช็คของธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางเขน ก่อนลงชื่อนายฮะพูดกับจำเลยที่ 2 ว่า ดูซิให้เซ็นแค่นี้ไม่ยอมเซ็น จำเลยที่ 2 พูดว่าป๋าเซ็นให้เขาเถอะ เงินแค่นี้จะได้ไม่ต้องเจ็บตัว นายฮะกับจำเลยที่ 3บอกว่า จะเอายางไปปะและจะไปเบิกเงิน จำเลยที่ 1 จึงขับรถของโจทก์ร่วมไปจอดใต้ร่มไม้ในโรงเรียนวัดเมตารางค์ โดยมีจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 1 คุมโจทก์ร่วมไว้ ประมาณ 15 นาฬิกา นายฮะกับจำเลยที่ 3 กลับมาแล้วพากันไปใส่ล้อรถยนต์ไดฮัทสุ เสร็จแล้วพากันกลับกรุงเทพมหานคร โดยนายฮะเป็นคนขับรถ โจทก์ร่วมนั่งข้างหลังตรงกลาง จำเลยที่ 1 นั่งข้างขวา จำเลยที่ 3 นั่งข้างซ้ายส่วนนายประเจิดขับรถยนต์ไดฮัทสุตามไปโดยจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วยพอผ่านบ้านที่กำลังก่อสร้าง นายประเจิดจอดให้จำเลยที่ 2 ลงมาถึงกรุงเทพมหานครเวลาประมาณ 16 นาฬิกา รถที่นายฮะขับติดสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกบางเขน นายประเจิดขับเลี้ยวซ้ายไปทางสามแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนนายฮะขับรถไปทางโรงเรียนปานะพันธ์ พอเลยไปเล็กน้อยก็จอดรถลงไปโทรศัพท์ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้วกลับขึ้นมาขับรถเลี้ยวเข้าถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าไปทางดอนเมือง ผ่านท่าอากาศยานกรุงเทพแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนพหลโยธิน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปในทางแยกเข้าอำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี ได้ประมาณ 1 กิโลเมตรก็หยุดและพูดว่ายังไม่เห็นมา แล้วขับออกมาจอดที่ปากทางเข้าอำเภอลำลูกกาได้ประมาณครึ่งชั่วโมง เห็นนายประเจิดขับรถยนต์ไดฮัทสุมา ต่อมาประมาณ5 นาที เห็นจำเลยที่ 2 ตามมา พวกจำเลยพูดคุยซุบซิบกันแล้วพากันขับรถออกไป โดยนายฮะเป็นผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อไดฮัทสุมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วย ส่วนรถโจทก์ร่วมจำเลยที่ 3 เป็นคนขับ นายประเจิดนั่งด้านหน้า โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั่งด้านหลังขับมาตามถนนพหลโยธินเลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวลอดใต้สะพานลอยที่สี่แยกหลักสี่มุ่งหน้าไปทางตลาดดอนเมือง เมื่อผ่านตลาดดอนเมือง ขณะนั้นเป็นเวลาโพล้เพล้ โจทก์ร่วมพูดกับจำเลยที่ 3ว่า “ไหนมึงบอกว่าจะปล่อยกู จะไม่ให้ใครฆ่ากู สองคนข้างหน้าจะเอากูไปให้เขายิงจะได้อะไรขึ้นมา มึงปล่อยกูแล้วกูจะซ่อมรถเล็กให้มึง” บอกจำเลยที่ 1 ว่า “กูจะทำสองแถวให้มึงขับ” และบอกจำเลยที่ 4 ว่า “จะซื้อสี่ล้อเล็กให้มึงขับ” จำเลยที่ 3 จึงจอดรถและพูดกับจำเลยที่ 1 และนายประเจิดว่า “ป๋าลูกเขายังเล็กอยู่ลูกมึงก็เล็ก ลูกกูก็เล็ก ทั้งสามคนนี้ก็มีลูกเล็กทั้งนั้นสงสารป๋า อย่าไปทำป๋าเลย” แล้วจำเลยที่ 3 ถอยรถขับกลับทางเดิมไปส่งทางเข้าหมู่บ้านเสนานิเวศน์ จอดรถให้นายประเจิดลงจำเลยที่ 3 ขับไปถึงหน้าบ้านโจทก์ร่วมเป็นเวลามืดแล้ว ปรากฏว่าบุตรโจทก์ร่วมยังไม่ได้กลับจากโรงเรียน โจทก์ร่วมบอกให้จำเลยที่ 3ขับรถไปรับที่โรงเรียนปานะพันธ์โจทก์ร่วมไปด้วย พอรับบุตรมาส่งถึงหน้าบ้านโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ก็ลงจากรถไป เห็นว่าเหตุเกิดเวลากลางวัน โจทก์ร่วมรู้จักจำเลยที่ 1 ที่ 3 มาก่อนเพราะจำเลยทั้งสองเคยรับจ้างขับรถยนต์โดยสารสองแถวของโจทก์ร่วมส่วนจำเลยที่ 2 แม้โจทก์ร่วมจะไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่จำเลยที่ 2ได้ร่วมกับนายฮะบังคับให้โจทก์ร่วมเขียนเช็คและร่วมกับจำเลยที่ 1นายประเจิดควบคุมตัวโจทก์ร่วมไว้ในขณะที่นายฮะกับจำเลยที่ 3ไปเบิกเงินที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางเขน และยังได้นั่งรถคุมตัวโจทก์ร่วมอยู่เป็นเวลานาน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ก็เบิกความยอมรับว่าไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมมาก่อนจึงไม่น่าระแวงว่าโจทก์ร่วมจะแกล้งกล่าวหาปรักปรำจำเลยทั้งสามหลังเกิดเหตุแล้วเมื่อโจทก์ร่วมนำความไปแจ้งต่อพันตำรวจตรีมณเฑียร ประทีปวะณิช ก็ได้นำพันตำรวจตรีมณเฑียรไปจับจำเลยที่ 1ได้ในขณะที่จำเลยที่ 1 นั่งอยู่บนราวสะพานข้ามคลองวังหินในซอยเสนานิคม 1 เมื่อนำตัวมาสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.14 ส่วนจำเลยที่ 2นั้นแม้โจทก์ร่วมจะไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน แต่จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไปทำงานที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพบโจทก์ร่วมไปกับนายฮะ นายจ๊อดจำเลยที่ 1 นายดำ จำเลยที่ 3 และนายแขก ครั้นเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบที่อยู่ของจำเลยที่ 2 แล้ว พันตำรวจตรีมณเฑียรได้ให้โจทก์ร่วมไปชี้ตัวโจทก์ร่วมก็ชี้ได้ถูกต้อง เชื่อว่าโจทก์ร่วมจำจำเลยที่ 2 ได้จริงที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ไปทำงานก่อสร้างที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โดยลงเวลาปฏิบัติราชการของลูกจ้างประจำ เอกสารหมาย ล.3 โดยไม่ได้ร่วมทำผิดนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 เข้าร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ โดยนายฮะกับจำเลยที่ 1ที่ 3 และนายประเจิดขับรถยนต์ไปรับยังที่ที่จำเลยที่ 2 ทำงานก่อสร้างที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร เอกสารหมาย ล.3 จึงไม่ใช่หลักฐานที่พอจะแสดงให้เชื่อถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธแต่เจ้าพนักงานตำรวจเอาบันทึกคำให้การมาให้ลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟังนั้นเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เพราะมีรายละเอียดมากมายยากที่พนักงานสอบสวนจะเขียนขึ้นเองแล้วเอามาให้จำเลยที่ 3 ลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง แม้การที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความให้ดำเนินคดีล่าช้าก็เป็นเพราะพวกจำเลยข่มขู่ห้ามไม่ให้ไปแจ้งความ การแจ้งความล่าช้าจึงไม่เป็นข้อพิรุธอะไร พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะโดยจำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนเพื่อกระทำผิดด้วยและจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อหากรรโชกนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 กับพวกร่วมกันขู่บังคับให้โจทก์ร่วมลงลายมือในเช็ค3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้จำเลยกับพวก แต่เจตนาของจำเลยทั้งสามกับพวกประสงค์ที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปในทันทีนั้นเอง เพราะขณะที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัดสาขาบางเขนนั้น โจทก์ร่วมยังถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายประเจิดควบคุมตัวไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้น อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์นั่นเอง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก สำหรับนายประเจิดหรือแขก อุไรวงศ์ แม้จะได้ฎีกาขึ้นมาแต่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงนายประเจิดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วย มาตรา 225 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วนไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาฐานกรรโชกสำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และนายประเจิดหรือแขก อุไรวงศ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7243/2528 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์