แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(3) เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งหมายถึงการก่อให้เกิดอันตรายแก่กายที่สูญเสียอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย เช่นที่ระบุไว้ในกฎหมายนั้น ดังนั้น การสูญเสียอวัยวะอื่นใดตามมาตรา 297(3) ก็ต้องเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายหรือต้องสูญเสียไปถึงขนาดเทียบเท่าเสีย แขน ขา มือ เท้า นิ้ว ตามที่กฎหมายระบุไว้แล้ว มิใช่ว่าเสียอวัยวะส่วนใด ๆ ก็เป็นอันตรายสาหัสเช่นเดียวกันทั้งหมดไม่
โจทก์ต้องเสียฟันไปเพียงซี่เดียว แม้ฟันจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่เฉพาะเท่าที่เสียไป ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่ามีความสำคัญหรือการสูญเสียเทียบเท่ากับการเสีย แขน ขา มือ เท้า หรือนิ้ว อันเป็นอวัยวะที่กฎหมายระบุไว้ชัดแจ้งนั้น จะนับว่าโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสตามความในมาตรา 297(3) บัญญัติไว้ยังไม่ได้
ข้อที่ว่า ฟันที่ต้องเสียไป 1 ซี่นี้อยู่ด้านหน้าทำให้รูปหน้าเสียโฉมติดตัว เป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(4) นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยในข้อนี้ จึงมิใช่ข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกขึ้นว่ากล่าวได้เลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันใช้กำลังกายชกต่อยเตะและกระทืบโจทก์มีบาดเจ็บตามร่างกาย แพทย์ต้องถอนฟันออก ๑ ซี่ ถึงบาดเจ็บสาหัสทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนากล้า ต้องรักษาพยาบาลเกินยี่สิบวัน ประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕, ๒๙๖, ๒๙๗, ๒๙๘, ๘๓
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยร่วมกันทำร้ายโจทก์ โจทก์ถอนฟันเพราะการกระทำของจำเลย โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๓) พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๓) ๒๙๘,๘๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๘๙(๔) ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๘ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๒ ปี ๖ เดือน
จำเลยที่ ๑ อายุ ๒๐ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามมาตรา ๒๙๗(๓) ที่ว่า อันตรายสาหัส คำว่า “อวัยวะอื่นใด” ต้องหมายถึงอวัยวะที่มีความสำคัญพอจะเทียบกันได้กับอวัยวะที่ออกชื่อแล้ว ฟันที่โจทก์เสียไป ๑ ซี่ ไม่เป็นอวัยวะอันต้องด้วยอนุมาตรานี้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๖ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๖ เดือน และไม่ลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา ๗๖ ให้จำเลยที่ ๑
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้พิจารณาข้อความในบทมาตรา ๒๙๗ ซึ่งบัญญัติว่า ” ฯลฯ อันตรายสาหัส คือ (๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท (๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ (๓) เสีย แขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด ฯลฯ” โดยเฉพาะตาม (๓) อันเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องนี้ เห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งหมายถึงการก่อให้เกิดอันตรายแก่กายที่สูญเสียอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย เช่นที่ระบุไว้ในกฎหมายนั้น ดังนั้น การสูญเสียอวัยวะอื่นใดตามมาตรา ๒๙๗(๓) ก็ต้องเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกาย หรือต้องสูญเสียไปถึงขนาดเทียบเท่าเสีย แขน ขา มือ เท้า หรือนิ้ว ตามที่กฎหมายระบุไว้แล้ว มิใช่ว่าเสียอวัยวะส่วนใด ๆ ก็เป็นอันตรายสาหัสเช่นเดียวกันทั้งหมดไม่ ในเรื่องนี้ โจทก์ต้องเสียฟันไปเพียงซี่เดียว แม้ฟันจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่เฉพาะเท่าที่เสียไปยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่ามีความสำคัญหรือการสูญเสียเทียบเท่าการเสีย แขน ขา มือ เท้าหรือนิ้ว อันเป็นอวัยวะที่กฎหมายระบุไว้ชัดแจ้งนั้น จะฟังว่าโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสตามความในมาตรา ๒๙๗(๓) บัญญัติไว้ยังไม่ได้
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ฟันที่ต้องเสียไปซี่นี้อยู่ด้านหน้า ทำให้รูปหน้าเสียโฉมติดตัว เป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา ๒๙๗(๔) นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้อง และขอให้ลงโทษจำเลยในข้อนี้ จึงมิใช่ข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกขึ้นว่ากล่าวได้เลย.
พิพากษายืน.