แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรณีที่ผู้มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475มาตรา 31 ไม่ให้คำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ภายในเวลาอันสมควร ผู้รับประเมินมีความชอบธรรมที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกเงินค่าภาษีซึ่งผู้รับประเมินถือว่าไม่ควรต้องเสียคืนได้ โดยไม่จำต้องรอให้มีคำชี้ขาดก่อน โจทก์นำคดีมาฟ้องภายหลังที่ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เพื่อขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่เป็นเวลาเพียง 3 เดือนเศษนับแต่วันยื่นคำร้อง ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ให้คำชี้ขาดภายในเวลาอันสมควร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 3 แล้วให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่าการประเมินชอบแล้ว เพราะโจทก์ใช้โรงเรือนพิพาทเป็นสถานที่ประกอบกิจการค้าตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ไม่ใช่เพื่ออยู่หรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติว่า เมื่อปลายเดือนกันยายน 2527 พนักงานเก็บภาษี เขตพระโขนงของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนสำหรับตึกตามฟ้องไปยังโจทก์ แต่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย วันที่ 16 ตุลาคม 2527โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2ขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ หลังจากนั้นโจทก์นำค่าภาษีตามที่ได้รับแจ้งประเมินไปชำระให้จำเลยที่ 1 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยทั้งสามคืนค่าภาษีที่ชำระแล้วให้โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระ วันที่ 21 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 2แจ้งคำชี้ขาดที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ให้โจทก์ทราบคดีมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 31ผู้รับประเมินจะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินไม่ถูกก็ได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดของผู้มีอำนาจที่มาตรานี้ระบุไว้แต่ถ้าผู้มีอำนาจในมาตรานี้ไม่ให้คำชี้ขาดภายในเวลาอันสมควร ไม่มีบทมาตราใดบังคับให้ผู้รับประเมินปฏิบัติอย่างไร เมื่อพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ไม่ได้บังคับในเรื่องเช่นนี้ไว้และไม่มีบทกฎหมายอื่นใดห้ามมิให้ผู้รับประเมินนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอเรียกเงินคืน ประกอบทั้งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช2475 ก็มีความมุ่งหมายให้ผู้เสียเงินภาษีไปโดยไม่ถูกต้องฟ้องเรียกเงินคืนได้ กรณีที่ผู้มีอำนาจตามที่ระบุไว้ในมาตรา 31ไม่ให้คำชี้ขาดภายในเวลาอันสมควรผู้รับประเมินจึงมีความชอบธรรมที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกเงินค่าภาษีซึ่งผู้รับประเมินถือว่าไม่ควรต้องเสียคืนได้อีกกรณีหนึ่งด้วย เพราะไม่เช่นนั้นหากผู้มีอำนาจที่กล่าวไม่ยอมให้คำชี้ขาดผู้รับประเมินไม่มีโอกาสที่จะได้เงินที่ไม่ควรต้องเสียคืนได้เลย รูปคดีเช่นนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้เป็นแบบอย่างแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1550/2482 ระหว่างบริษัทแม่น้ำมอเตอร์โบ๊ต จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร จำเลย กรณีตามฟ้องจึงมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ ไม่ให้คำชี้ขาดในเวลาอันสมควรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ โจทก์นำคดีมาฟ้องภายหลังที่ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ เป็นเวลาเพียง 3 เดือนเศษ คดีไม่ได้ความว่า คำร้องที่ยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ มีเฉพาะแต่ของโจทก์เพียงเรื่องเดียวและจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เฉพาะเพียงการนี้เท่านั้น ทั้งเมื่อได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 28, 29ให้อำนาจจำเลยที่ 2 ออกหมายเรียกผู้ร้องมาซักถาม ให้นำพยานหลักฐานมาสนับสนุนคำร้องของตนซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าอีกเห็นได้ว่าการชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ของจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องต้องใช้เวลาซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่กล่าว ประกอบเข้าด้วยกันแล้วศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ไม่ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ ภายในเวลาสามเดือนเศษนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2ไม่ให้คำชี้ขาดในเวลาอันสมควร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อในที่สุดผลการชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ส่งคำชี้ขาดให้โจทก์ เมื่อวันที่21 มีนาคม 2528 โดยยืนตามความเห็นของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า อำนาจฟ้องในกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อจำเลยที่ 2 ให้คำชี้ขาดแล้วไม่มีผลย้อนหลังไปทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งบกพร่องอยู่บริบูรณ์ขึ้นมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน