แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา แต่เมื่อโจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกทุกแปลงของผู้ตายอีกคนหนึ่งมิได้ยินยอมด้วย ต้องถือว่าการแบ่งทรัพย์สินนั้นจำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำได้ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคน ทั้งกรณีเป็นการแบ่งทรัพย์สิน มิใช่การทำนิติกรรมซึ่งโจทก์ที่ 5 จะให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่ในการแบ่งมรดกได้ โจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับยึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดได้
เมื่อโจทก์ที่ 5 ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แต่การบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งมรดกตามบัญชีทรัพย์ ยกเว้นที่ดินโฉนดเลขที่ 28421 แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 6048 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเส้นสีแดงในแผนที่ ให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 คนละ 1 ใน 15 ส่วน และผู้ร้องสอดคนละ 1 ส่วน ของจำนวน 2 ใน 17 ส่วน หากจำเลยบางคนหรือหลายคนไม่จัดการหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยส่วนที่เหลือเป็นผู้จัดการแบ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ถ้าไม่สามารถจัดสรรแบ่งได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คดีถึงที่สุด จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 5 ขอให้ออกหมายบังคับคดีวันที่ 4 มิถุนายน 2553 และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินตามบัญชีทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตบางกอกใหญ่และอำเภอธัญบุรีหลายแปลง กับมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินที่ตั้งอยู่ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อีก 5 แปลง
วันที่ 17 กันยายน 2553 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 9 ยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสี่ดำเนินการแบ่งที่ดินตามคำพิพากษาให้โจทก์บางคนและผู้ร้องสอดทั้งสามโดยให้มีชื่อในที่ดินตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา และอยู่ในระหว่างจัดแบ่งให้โจทก์คนอื่น ๆ เมื่อการแบ่งที่ดินมรดกยังกระทำได้ โจทก์ที่ 5 จึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาด การออกหมายบังคับคดีจึงเป็นการผิดหลงไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี
โจทก์ที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินโดยใส่ชื่อของโจทก์บางคนในโฉนด มิได้จัดแบ่งที่ดินให้ทายาททั้ง 15 คน เข้าครอบครองเป็นสัดส่วน จำเลยทั้งสี่ปล่อยปละละเลยไม่จัดการมรดกมานานกว่า 28 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสี่เป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจจัดแบ่งทรัพย์มรดกไปตามคำพิพากษาของศาลได้ บัดนี้ใกล้จะครบกำหนดเวลา 10 ปี แล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ยังตกเป็นบุคคลล้มละลายมีผลให้การเป็นผู้จัดการมรดกสิ้นสุดลง หากปล่อยเวลาการแบ่งทรัพย์มรดกให้ล่าช้าอีก จะทำให้โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 และทายาทอื่นที่ไม่มีชื่อในทะเบียนเสียหาย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 9 ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง
วันที่ 7 ธันวาคม 2553 โจทก์ที่ 5 ยื่นคำร้องว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ระยะเวลาการบังคับคดีใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จะทำให้การบังคับคดีของโจทก์ที่ 5 หยุดชะงักลง และไม่อาจทราบว่าคดีจะถึงที่สุดเมื่อใด กรณีจึงมีพฤติการณ์พิเศษ ขอให้มีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 10 ปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์ที่ 5 อุทธรณ์คำสั่ง
วันที่ 22 มีนาคม 2554 ศาลชั้นต้นนัดพร้อมคดีที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 9 ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีที่ออกตามคำขอของโจทก์ที่ 5 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งออกหมายบังคับคดีเป็นไปโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
โจทก์ที่ 5 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 5 ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเก้าในฐานะทายาทโดยธรรมของนายแผน ผู้ตาย ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายให้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งเก้า และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกตามบัญชีทรัพย์ ยกเว้นที่ดินโฉนดเลขที่ 28421 และเลขที่ 6048 อันดับที่ 533 หมวด ค เฉพาะส่วนที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเส้นสีแดงในแผนที่ ให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 คนละ 1 ใน 15 ส่วน และผู้ร้องสอดทั้งสามคนละ 1 ส่วน ของจำนวน 2 ใน 17 ส่วน จึงเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา ซึ่งการแบ่งทรัพย์สินนั้น จำเลยทั้งสี่อาจกระทำได้โดยให้แบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม ถ้าเจ้าของรวมไม่สามารถตกลงแบ่งกันเองได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจจัดสรรแบ่งทรัพย์สินได้ จำเลยทั้งสี่ก็ชอบที่จะนำออกขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับตามคำพิพากษาในลำดับถัดไปแล้วนำเงินที่ได้จากการขายนั้นมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งต่อไป แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์บางคนและผู้ร้องสอดทั้งสามยินยอมให้ใส่ชื่อของตนถือกรรมสิทธิ์รวมตามอัตราส่วนแบ่งของแต่ละคนในโฉนดที่ดินมรดกก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกทุกแปลงของผู้ตายอีกคนหนึ่งมิได้ยินยอม ก็ต้องถือว่าการแบ่งทรัพย์สินนั้นจำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำได้ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคน ทั้งกรณีเป็นการแบ่งทรัพย์สิน มิใช่การทำนิติกรรมในอันที่โจทก์ที่ 5 จะให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่ในการแบ่งมรดกได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับยึดที่ดินมรดกตามบัญชีทรัพย์เอกสารท้ายคำฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นออกขายทอดตลาดได้ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ที่ 5 นั้นชอบแล้ว คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 5 ฟังขึ้น
ฎีกาของโจทก์ที่ 5 ที่ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีนั้น โจทก์ที่ 5 ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 5 ได้ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดตามบัญชีทรัพย์ ซึ่งโจทก์ที่ 5 มีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แต่การบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม จึงถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่โจทก์ที่ 5 ฎีกาของโจทก์ที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ