คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลย 18 คน ศาลรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึง 17 สำหรับฟ้องจำเลยที่ 18 ให้ยกเสีย ตามาตรา 172 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้รับคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 18 ดังนี้ จำเลยที่ 18 ฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 18 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งไปยังสถานีตำรวจท้องที่ให้ผ่อนผันการจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 โดยให้แย่งรับส่งคนโดยสารทับบนเส้นทางซึ่งโจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางการ ให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์แต่ผู้เดียว เพื่อโจทก์แจ้งความขอให้ตำรวจจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 มาดำเนินคดีตำรวจไม่ยอมดำเนินการให้เพราะจำเลยที่ 18 มีคำสั่งผ่อนผันการจับกุมจำเลยไว้ โจทก์จะได้ขอให้ศาลเรียกคำสั่งดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาต่อไป ดังนี้ เห็นไดว่าคำสั่งของจำเลยที่ 18 เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ประกอบกับมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ขอให้เพิกถอนว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 45
ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวยืนยันโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 18 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้ออกคำสั่ง สั่งว่าอย่างไร ถึงใคร และมีผู้ใดกระทำตามคำสั่งนั้นโดยแจ้งชัดแล้ว ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องระบุชื่อจำเลยที่ 18 ว่า พ.ต.อ.ป.กรมตำรวจ และยังได้บรรยายฟ้องอีกว่า จำเลยที่ 18 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 18 ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจ หาใช่ฟ้องในฐานะส่วนตัวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทาง ๒๑๔๘ เพียงบริษัทเดียว จำเลยที่ ๑ ถึง ๑๗ ซึ่งไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะนำรถยนต์เข้าไปวิ่งรับคนโดยสารบนเส้นทางของโจทก์ บังอาจนำรถยนต์ดังกล่าวมาวิ่งแย่งรับคนโดยสารบนเส้นทางของโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการขนส่งเป็นเหตุให้รายได้โจทก์ลดต่ำลงวันละ ๑,๕๐๐ บาท วันที่ ๑๔-๑๕ กันยายน ๒๕๑๓ โจทก์แจ้งให้ตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ ตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔, ที่ ๖ ได้ และเปรียบเทียบปรับแล้ว
วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๑๓ จำเลยที่ ๑ ถึง ๑๗ ได้ร่วมกันนำรถยนต์เข้าวิ่งแย่งรับคนโดยสารทับเส้นทางของโจทก์อีก โจทก์แจ้งให้ตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ ตำรวจอ้างว่าได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ ๑๘ ให้ผ่อนผันจับกุมจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ โดยอนุญาตให้นำรถยนต์เข้าวิ่งแย่งรับคนโดยสารทับเส้นทางของโจทก์ได้
จำเลยที่ ๑๘ ซึ่งอธิบดีกรมตำรวจได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำคำสั่งไปยังตำรวจผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง ให้ผ่อนผันการจับกุมจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ ปรากฏตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑๘ ซึ่งโจทก์จะได้ขอให้ศาลเรียกมาประกอบการพิจารณาต่อไป การกระทำของจำเลยที่ ๑๘ เป็นการขัดต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ตำรวจ ไม่ยอมทำการจับกุมจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายและสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายและขอให้ศาลมีคำสั่งว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑๘ มิชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสีย ห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ วิ่งรถยนต์ทับเส้นทางตามฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ สำหรับรับฟ้องจำเลยที่ ๑๘ นั้น ตามข้ออ้างของโจทก์ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือคำสั่งผ่อนผันการจับกุมนั้น ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑๘ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ให้ยกเสีย ตามมาตรา ๑๗๒
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นว่า ไม่รับคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑๘
จำเลยที่ ๑๘ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางการให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทาง ๒๑๔๘ แต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ กระทำผิดพระราชบัญญัติการขนส่งฯ โดยนำรถยนต์เข้าวิ่งแย่งรับส่งคนโดยสารบนเส้นทางดังกล่าว จำเลยที่ ๑๘ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งไปยังสถานีตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทองให้ผ่อนผันการจับกุมจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ โดยให้วิ่งแย่งรับคนโดยสารทับเส้นทางของโจทก์ โจทก์แจ้งความขอให้ตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ มาดำเนินคดี ตำรวจไม่ยอมดำเนินการให้ เพราะจำเลยที่ ๑๘ มีคำสั่งให้ผ่อนผันการจับกุมจำเลยดังกล่าว คำสั่งของจำเลยที่ ๑๘ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้นด้วย ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๑๘ เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ประกอบกับมีข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑๘ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
ฎีกาของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยบรรยายคำสั่งจำเลยที่ ๑๘ มาลอย ๆ จะมีจริงหรือไม่ คำสั่งถึงใคร ใครเป็นผู้ออกคำสั่ง และมีผู้ใดเป็นผู้กระทำตามคำสั่งนั้น ไม่ได้ความแน่ชัด ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ยืนยันมาโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ ๑๘ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้ออกคำสั่งถึงสถานีตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทองให้ผ่อนผันการจับกุมจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ โจทก์จะได้ขอให้ศาลเรียกคำสั่งมาประกอบการพิจารณาต่อไป เป็นการยืนยันว่าคำสั่งนั้นมีอยู่จริง และยังได้ความตามฟ้องต่อไปว่าตำรวจภูธรอำเภอเมืองอ่างทองได้กระทำการตามคำสั่งนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑๘ ในฐานะส่วนตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องระบุชื่อจำเลยที่ ๑๘ ว่า “พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจรวงศ์ กรมตำรวจ โดยไม่ได้ระบุฐานะว่าเป็นผู้มีหน้าที่ใดก็จริงแต่โจทก์ก็ได้ระบุไว้ท้ายชื่อว่า กรมตำรวจ และยังบรรยายฟ้องในข้อ ๕ ว่า จำเลยที่ ๑๘ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑๘ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจหาใช่ฟ้องในฐานะส่วนตัวไม่
พิพากษายืน

Share