คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาในคดีแรงงาน ต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมา ในปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่ โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องเอาเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยแล้วหรือยังนั้น ศาลแรงงานกลางไม่ได้สืบพยานให้ได้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จหรือไม่มีข้อความเกี่ยวกับความหมายของค่าจ้าง เงินเดือน และระยะเวลาในการเรียกร้องเงินบำเหน็จว่าอย่างไร ศาลฎีกาจึงไม่มีข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย กรณีเป็นเรื่องศาลแรงงานกลางปฏิบัติไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(3)(ข) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองหมดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จที่ขาดจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายสมทบเพิ่มให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากเงินเดือนหรือค่าจ้างเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่มีรายได้น้อยผู้ที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างสูงจะไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวค่าครองชีพจึงเป็นเงินประเภทอื่น ไม่ใช่ค่าจ้าง ไม่อาจนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จได้ และอุทธรณ์ข้อสองว่า โจทก์ไม่ได้เรียกร้องเงินบำเหน็จจนล่วงเลยเวลาเกินกว่า 3 ปี จึงหมดสิทธิเรียกร้องตามข้อบังคับจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ข้อ 9 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในการวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองข้อของจำเลยดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า จำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จหรือไม่ มีข้อความเกี่ยวกับความหมายของค่าจ้างเงินเดือนและกำหนดระยะเวลาในการเรียกร้องเงินบำเหน็จว่าอย่างไรแต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้สืบพยานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลฎีกาไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย อันเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางปฏิบัติไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ข)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานในเรื่องดังกล่าวข้างต้นต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share