คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จะระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่า ฟ้องโจทก์เป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับคดีก่อน ศาลอุทธรณ์จะหยิบปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับตามมาตรา 39 (4) จึงไม่อาจรับฟังได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 58, 62, 64, 81 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 6, 7, 9, 27, 51, 54, 57, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3800/2557, 3801/2557, 3802/2557, 3803/2557, 3804/2557, 3805/2557, 3806/2557, 3807/2557, 3808/2557, 3809/2557, 3810/2557, 3811/2557, 3813/2557, 3814/2557, 3815/2557, 3816/2557, 3817/2557, 3818/2557, 3819/2557, 3820/2557, 3821/2557, 3822/2557, 3823/2557, 3824/2557, 3825/2557 และ 3826/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1) วรรคหนึ่ง, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง, 51 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุก 2 เดือน ฐานรับคนต่างด้าว ซึ่งไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานเข้าทำงาน ปรับ 10,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ต้องระบุว่าเป็นความผิดตามมาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง และมาตรา 12 (1), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยทั้งสองกระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือนและปรับ 5,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 กระทำความผิดลักษณะเดียวกัน 26 คดี จึงไม่รอการลงโทษจำคุก ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3952/2557, 3953/2557, 3954/2557, 3955/2557, 3956/2557, 3957/2557, 3958/2557, 3959/2557, 3960/2557, 3961/2557, 3962/2557 และ 3963/2557 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอื่นนอกจากนี้ยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง กับให้ยกคำขอนับโทษต่อด้วย คงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานอื่น และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยมิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่าความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3954/2557 ของศาลชั้นต้น เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน กรณีจึงไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3954/2557 ของศาลชั้นต้น เป็นการกระทำกรรมเดียวกันหรือไม่ แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จะระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3954/2557 ของศาลชั้นต้น ที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมในคดีนี้กับคดีดังกล่าวเป็นคราวเดียวกันดังที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ ทั้งความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมนั้น อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยที่ 1 ช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวหลายคนเพื่อให้พ้นจากการจับกุมต่างเวลากัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นการไม่ชอบดังวินิจฉัยข้างต้น โดยยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เพื่อไม่ให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ กรณีนี้ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์โต้แย้งฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้การช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมก็เพื่อที่จำเลยที่ 1 จะรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งกรรมกรก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปโดยมุ่งประสงค์ที่จะหาแรงงานในการประกอบอาชีพของตน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้อีก 26 คดี เป็นคนต่างด้าวอีกจำนวน 26 คน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงนัก และมิใช่การกระทำความผิดซ้ำโดยไม่หลาบจำ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณามาโดยตลอด แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังรู้สำนึกในความผิดแห่งตน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ เพื่อให้มีเจ้าพนักงานแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแล ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 และสังคมมากกว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อป้องปรามมิให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมอีกสถานหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,500 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับ 5,000 บาท ในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานเข้าทำงาน รวมลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 1 รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง มีกำหนด 2 ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 29/1, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้นับโทษต่อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share