คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ชั้นสอบสวนพยานโจทก์ทั้งสองให้การว่า พยานอยู่ในเหตุการณ์และยืนยันว่าจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้เสียหาย แม้คำให้การชั้นสอบสวนจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า และในชั้นศาลพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความบ่ายเบี่ยงเป็นทำนองช่วยเหลือจำเลย แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุอันถือได้ว่าเป็นระยะเวลากระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุพยานยังไม่น่าจะทันมีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเป็นอย่างอื่น ทั้งคำให้การดังกล่าวสอดคล้องกับคำของผู้เสียหายจึงรับฟังมาประกอบคำของผู้เสียหายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายสมจิตร จันทร์ลา ผู้เสียหายได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย บาดแผลปรากฏตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสมจิตร จันทร์ลาผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า ขณะร่วมวงดื่มสุราที่บ้านจำเลย จำเลยพูดว่าจะปิดปากผู้เสียหาย แล้วลุกขึ้นเตะผู้เสียหายล้มลง และไปเอาอาวุธปืนสั้นมายิงผู้เสียหาย3 นัด จนได้รับบาดเจ็บ นางนง จันทร์ลาภรรยาผู้เสียหายเบิกความว่า คืนเกิดเหตุทราบเรื่องแล้วไปดูผู้เสียหายที่โรงพยาบาลบ่อทองผู้เสียหายระบุว่าจำเลยเป็นคนยิง จึงไปแจ้งความแก่ตำรวจในวันรุ่งขึ้น ซึ่งร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์ โชติพิทักษ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อทองก็มาเบิกความรับรองว่า เมื่อเวลา5.45 นาฬิกาของวันที่ 22 สิงหาคม 2528 อันเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุได้รับแจ้งจากนางนงว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย นอกจากนั้นยังได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายฉลาด พงษ์เถื่อน กับนายสมนึก หมื่นรามสุข พยานโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุพยานโจทก์ทั้งสองได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยและยืนยันว่าจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้เสียหาย แม้คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า และในชั้นศาลพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความบ่ายเบี่ยงเป็นทำนองช่วยเหลือจำเลย แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุอันถือได้ว่าเป็นระยะเวลากระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุ พยานยังไม่น่าจะทันมีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเป็นอย่างอื่น ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำของผู้เสียหายจึงรับฟังมาประกอบคำของผู้เสียหายได้ อนึ่ง ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์ว่า เกิดเหตุแล้วได้ไปติดตามหาจำเลยที่บ้านหลายครั้งแต่ไม่พบตัวและจากการที่จำเลยเข้ามอบตัวสู้คดีภายหลังเกิดเหตุถึง 1 ปีเศษตามเอกสารหมาย จ.7 พฤติการณ์ส่อแสดงว่าจำเลยหลบหนีการติดตามจับกุมพิจารณาประกอบพยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุยิงกัน จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่ากูจะปิดปากมึง ทั้งที่ไม่เคยมีสาเหตุมาก่อน และผู้เสียหายก็ไม่ได้เก็บความลับอะไรของจำเลยไว้ ซึ่งมีความหมายว่าจำเลยไม่มีสาเหตุที่จะยิงผู้เสียหายนั้น ได้ความจากผู้เสียหายตอบทนายจำเลยสรุปได้ว่าหนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องจำเลยกับผู้เสียหายเป็นหัวคะแนนเสียงเลือกตั้งให้สมาชิกสภาจังหวัด จำเลยเองก็เบิกความว่าวันเกิดเหตุผู้เสียหายพูดหาเสียงให้สมาชิกสภาจังหวัดคนหนึ่งในวงสุรา ซึ่งเจือสมกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายสมนึกว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยโต้เถียงกันถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าเหตุคดีนี้เกิดจากการโต้เถียงกันเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี
ที่จำเลยฎีกาว่า คำให้การชั้นสอบสวนของนายฉลาดกับนายสมนึกเป็นคำให้การในขณะที่พยานมีอาการมึนเมาอยู่ ทั้งเป็นพยานชั้นสองไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุ ซึ่งพยานน่าจะสร่างเมาแล้ว อีกทั้งคำให้การของพยานดังกล่าวก็ได้เรื่องราวดี ทั้งสอดคล้องต้องกันกับคำของพยานโจทก์ปากอื่น จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคำให้การในขณะพยานมีอาการมึนเมาจนความจำเลอะเลือน อนึ่งแม้คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่เมื่อมีเหตุผลให้น่าเชื่อดังวินิจฉัยมาข้างต้นยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นศาลซึ่งส่อว่าพยานเบิกความช่วยเหลือจำเลย ศาลย่อมรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนมาประกอบคำพยานปากอื่นได้”
พิพากษายืน

Share