แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงถูกผู้เสียหายแย่งสามี แล้วต้องถูกสามีไล่ออกจากบ้านพร้อมบุตร เป็นเหตุให้ครอบครัวต้องแตกแยกจำเลยต้องไปเช่าบ้านอยู่และมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย บุตรที่กำลังศึกษาอยู่ต้องออกจากโรงเรียน นับว่าผู้เสียหายทำให้จำเลยเกิดความคับแค้นใจอย่างมากอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยไปขอเงินจากสามี แล้วพบผู้เสียหายและถูกผู้เสียหายด่าว่า และมองด้วยอาการเหยียดหยามตั้งแต่ศีรษะจดเท้า ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมจนทำให้จำเลยเกิดโทสะ การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายไปในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีเหตุอันควรเห็นใจ เนื่องจากถูกผู้เสียหายแย่งสามีแล้วถูกสามีขับไล่ออกจากบ้าน ครอบครัวประสบความเดือดร้อนจำเลยย่อมได้รับความคับแค้นใจอย่างมากประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยได้ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรู้จักให้พาเข้ามอบตัว อันเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน แสดงให้เห็นว่าที่จำเลยยิงผู้เสียหายไปถึง 4-5 นัด ก็เป็นเพราะขณะนั้นจำเลยไม่สามารถควบคุมสติได้ตามปกติ การกระทำของจำเลยจึงมีเหตุอันควรปรานีให้ลงโทษสถานเบาเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วรอการลงโทษและคุมความประพฤติของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,297, 80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72,72 ทวิ และให้คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคสาม จำคุก 6 เดือนและฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง จำคุก 2 เดือน รวมลงโทษจำคุก10 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 4 เดือนของกลางให้คืนเจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 72ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี รวมกับโทษจำคุกของจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก 2 ข้อหาความผิดคือฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนกับกระสุนปืนนั้นไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากลดโทษให้ข้อหาละกึ่งหนึ่งแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 4 เดือน โทษจำคุกของจำเลยทุกข้อหาความผิดให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษเห็นสมควรให้คุมประพฤติจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ด้วยวิธีการกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติที่ศาลชั้นต้นกำหนด 3 เดือนต่อครั้ง รวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกามีเพียงว่า จำเลยยิงผู้เสียหายเพราะบันดาลโทสะหรือไม่ โจทก์มีตัวผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ขณะที่พยานนั่งอยู่ในรถยนต์กระบะเพื่อคอยนายบุญเลิศสามีจำเลยเพื่อจะให้ขับรถไปธุระด้วยกันมีจำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปหา เมื่อเข้าไปใกล้ได้พูดกับพยานว่า”แดงมึงตาย” พร้อมชักอาวุธปืนสั้นจากเอวยิงพยานทันที 5 นัดกระสุนปืนลั่น 4 นัด ถูกพยานได้รับอันตรายสาหัส จากนั้นจำเลยหนีไป จำเลยเบิกความว่า วันเกิดเหตุนายบุญเลิศสามีจำเลยสั่งบุตรชายให้พยานไปเอาเงินที่อู่นายจั๊งที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงอู่พบผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถ พยานได้บอกผู้เสียหายว่านายบุญเลิศกับพยานแล้ว ขอให้นายบุญเลิศช่วยส่งเสียพยานและบุตร ผู้เสียหายด่าพยานไอ้ดอกทอง ไปเอากับคนอื่น ไม่มีเงินแล้ว นอกจากนี้ยังด่าถึงบุตรสาวพยานว่าเที่ยวไปเอากับคนโน้นคนนี้ไม่เท่าไรคงท้องโตคาบ้านพยานเดินออกมา ผู้เสียหายยังด่าพยานอีก พยานโกรธจึงใช้อาวุธปืนที่ติดตัวมายิงผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายได้ด่าจำเลยหรือไม่นั้นตามถ้อยคำของผู้เสียหายและจำเลยยังยันกันอยู่ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า นายบุญเลิศเป็นน้องสามีเก่าของผู้เสียหายเมื่อสามีผู้เสียหายตาย นายบุญเลิศได้ผู้เสียหายเป็นภริยา แล้วจำเลยและบุตรถูกนายบุญเลิศไล่ออกจากบ้าน จำเลยต้องเลี้ยงดูบุตร บุตรของจำเลยต้องลาออกจากโรงเรียนไม่ได้ศึกษาต่อ ซึ่งข้อฎีกาโจทก์ก็รับว่ามีข้อน่าเห็นใจดังกล่าว เชื่อได้ว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายกลับเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยไปในทางปฏิเสธว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงเบิกความแต่เพียงว่าสนิทสนมกับนายบุญเลิศในฐานะเป็นน้องสามีเก่าและได้จ้างนายบุญเลิศมาเป็นคนขับรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น คำเบิกความของผู้เสียหายเหมือนกับต้องการปกปิดข้อความจริงบางอย่างและนับว่าเป็นข้อพิรุธ นอกจากนี้ร้อยตำรวจโทฉัตรชัย รังสิมันต์ พนักงานสอบสวนยังได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้สอบถามว่าผู้เสียหายเหยียดหยามจำเลยอย่างไร จึงอาจเป็นไปได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้เสียหายด่าว่าจำเลยนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบถามลงไปในรายละเอียดจำเลยซึ่งเป็นชาวบ้านไม่ทราบว่าจะให้การเป็นประโยชน์แก่ตนอย่างไรจึงไม่ได้ให้การเพื่อให้พนักงานสอบสวนได้จดบันทึกไว้ ก็เป็นได้ และเมื่อประกอบกับพฤติการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่า จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทันทีที่เห็นผู้เสียหายหากไม่มีการพูดจาโต้เถียงกันเกิดขึ้นก่อน จึงเชื่อว่า ก่อนที่จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ด่าว่าจำเลยและบุตรสาวจำเลยและยังได้แสดงอาการมองจำเลยด้วยอาการเหยียดหยามตั้งแต่ศีรษะจดเท้าดังที่ปรากฏตามบันทึกการมอบตัวและบันทึกการสอบสวนเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงถูกผู้เสียหายซึ่งเคยเป็นภริยาของพี่ชายสามีมาก่อนแย่งสามีแล้วต้องถูกสามีไล่ออกจากบ้านพร้อมบุตรชายและบุตรสาว เป็นเหตุให้ครอบครัวต้องแตกแยกจำเลยต้องไปเช่าบ้านอยู่ และมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย บุตรที่กำลังศึกษาอยู่ต้องออกจากโรงเรียน ทั้งที่กำลังศึกษาเล่าเรียนนับว่าผู้เสียหายทำให้จำเลยเกิดความคับแค้นใจอย่างมากอยู่ก่อนแล้วเมื่อจำเลยไปขอค่าใช้จ่ายจากสามีพบผู้เสียหายซึ่งแย่งสามีไปยังถูกผู้เสียหายด่าว่าและมองด้วยอาการเหยียดหยามตั้งแต่ศีรษะจดเท้าถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมจนทำให้จำเลยเกิดโทสะ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยมีเหตุอันควรเห็นใจเนื่องจากถูกผู้เสียหายแย่งสามี แล้วถูกสามีขับไล่ออกจากบ้าน ครอบครัวต้องประสบความเดือดร้อน จำเลยได้รับความคับแค้นใจอย่างมากดังได้วินิจฉัยแล้ว อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยได้ไปพบนายดาบตำรวจสุรินทร์ อินทนินทร์ ผู้ที่จำเลยรู้จักให้พาเข้ามอบตัว อันเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน แสดงให้เห็นว่าที่จำเลยได้ยิงผู้เสียหายไปถึง 4-5 นัด ก็เพราะขณะนั้นจำเลยไม่สามารถควบคุมสติได้ตามปกติการกระทำของจำเลยจึงมีเหตุอันควรปรานีให้ลงโทษเพียงสถานเบาและเมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน การที่ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยมานั้นจึงเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน