คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6289/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า”พินัยกรรม” ไว้ว่า “เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย”การที่มารดาโจทก์จำเลยทำหนังสือโดยเรียกหนังสือนั้นว่าพินัยกรรมและใช้ถ้อยคำว่า “…ขอ…ยกทรัพย์สินของข้าพเจ้าทั้งหมด…ให้แก่ บ.แต่เพียงผู้เดียว…”นั้น ตามความเข้าใจของสามัญชนที่เห็นข้อความดังกล่าวย่อมเข้าใจว่า ส.เจตนาจะนำทรัพย์สินของ ส.ทั้งหมดให้แก่ บ. เมื่อ ส.ถึงแก่ความตายแล้ว ข้อความในหนังสือไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ส.ตั้งใจยกทรัพย์สินของ ส.ให้แก่โจทก์ตั้งแต่ ส.ยังมีชีวิตอยู่ ข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายของ ส.เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าหนังสือนั้นได้ลงวันเดือนปี ที่ทำขึ้นและ ส.ผู้ทำหนังสือนั้นได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน 2 คน และพยานผู้เขียน 1 คน โดยพยานทั้ง 3 คน นั้นได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของ ส.ไว้ในขณะนั้น หนังสือดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 มีผลใช้ได้โดยสมบูรณ์

Share