คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้มาให้ถ้อยคำยินยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินทั้งมิได้มอบอำนาจให้ บ. ซึ่งเป็นภริยาไปให้ถ้อยคำยินยอมแทนในการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาท การกระทำของ บ. ไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้นำทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทั้งหมดมาให้ถ้อยคำยินยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทคนอื่น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81และกฎกระทรวง ฉบับที่ 24(พ.ศ. 2516) การจดทะเบียนรับมรดกคงสมบูรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 สิทธิครอบครองที่ดินที่จะมีการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ต้องเป็นของผู้อื่นหาได้หมายถึงที่ดินที่ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเองไม่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อสู้ว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และมีสิทธิครอบครองแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายมากกับนางผัน ทรวงดอน นายมากถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ส่วนนางผันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2525 ขณะถึงแก่กรรมนางผันมีทรัพย์มรดกซึ่งตกทอดแก่ทายาทคือที่ดิน 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 559 และเลขที่ 661 หลังจากนางผันถึงแก่กรรมโจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันครอบครองที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ต่อมาจำเลยที่ 1ไปขอรับมรดกและจดทะเบียนรับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมและในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งจำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต ดังนั้น นิติกรรมจดทะเบียนรับมรดกและนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติกรรมที่ฉ้อฉลตกเป็นโมฆะไม่มีผลตามกฎหมาย ต่อมาที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 559 และเลขที่ 661 จึงเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 34163และ 23744 โดยออกโฉนดเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินอย่างแท้จริง ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 559 และเลขที่ 661 เป็นมรดกของนางผัน ทรวงดอน ให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนรับมรดกที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 559 และเลขที่ 661นั้นเสีย และเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 559 และเลขที่ 661 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้ถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 34163 และเลขที่ 23744 แล้วให้ใส่ชื่อนางผัน ทรวงดอนในโฉนดแทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ซื้อที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตจดทะเบียนซื้อขายกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 เข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 1 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย ทายาทของนางผันซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยร่วมรู้เห็น จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าที่ดินแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกทุกคนแล้ว ต่อมาที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้น โจทก์ต้องการที่ดินคืนจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ตั้งแต่ปลายปี 2526 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกโฉนดที่ดินโดยชอบตามกฎหมายไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการทำนิติกรรมและเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2และที่ 3 ออกจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 559และเลขที่ 661 ตำบลโคกไทย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาและให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และให้ใส่ชื่อนางผัน ทรวงดอน เจ้ามรดกเป็นเจ้าของในโฉนดที่ดินเลขที่ 34163 และเลขที่ 23744 ตำบลโคกไทยอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายมากกับนางผัน ทรวงดอนมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน นายมากถึงแก่กรรมไปนานแล้ว นางผันถึงแก่กรรมเมื่อปี 2525 นางผันมีมรดกคือ ที่ดินพิพาท 2 แปลง ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 559 และเลขที่ 661 ตำบลโคกไทย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง มาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อมาปี 2532 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงไปออกโฉนดที่ดินซึ่งทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 34163 สำหรับ น.ส.3 ก. เลขที่ 559 และโฉนดที่ดินเลขที่ 23744 สำหรับ น.ส.3 ก. เลขที่ 661 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ในปัญหาดังกล่าวโจทก์เบิกความว่าขณะที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาท 2 แปลงของนางผันมาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2526 นั้น โจทก์มิได้ให้ความยินยอมเพราะขณะนั้นโจทก์อยู่ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย โจทก์เพิ่งกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 สำหรับทายาทคนอื่นก็ไม่มีใครให้ความยินยอมเช่นกัน นางสี ชมดอน ทายาทคนหนึ่งใน 7 คน มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าไม่เคยให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการจดทะเบียนรับมรดกแต่ผู้เดียว ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 นายบุญนาค สุริยะชวานนท์ และนายยอด ทุมทอง เป็นพยานเบิกความว่า ทายาททุกคนมาให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 รับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงของนางผันเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว เว้นแต่โจทก์ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างประเทศแต่นางบูดภรรยาของโจทก์มาแทนและไม่คัดค้าน เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81และกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2516) บัญญัติเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกในกรณีที่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกหลายคนและทายาทบางคนขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมดผู้ขอจดต้องแสดงบัญชีเครือญาติทุกคนและนำทายาทตามบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอมหรือนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ สำหรับกรณีของโจทก์ฟังได้ว่าขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงนั้นโจทก์อยู่ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ไม่ได้มาให้ถ้อยคำยินยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัยส่วนที่นางบูดภรรยาของโจทก์ไปแทนและไม่ได้คัดค้านก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจให้นางบูดไปให้ถ้อยคำยินยอมแทนโจทก์นางบูดมิใช่ตัวแทนของโจทก์ การกระทำของนางบูดไม่ผูกพันโจทก์จึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย ยินยอมให้จำเลยที่ 1 รับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว นอกจากนี้นางสีซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางผันอีกคนหนึ่งในจำนวนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 7 คน ก็ไม่ได้ให้ถ้อยคำยินยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัยเช่นกันอนึ่งก่อนสืบพยานคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้ออกคำสั่งเรียกเรื่องราวการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงของนางผันมาเป็นของจำเลยที่ 1 จากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาสาขาปักธงชัย ตามคำขอของโจทก์แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย อ้างว่าหาเรื่องราวไม่พบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้นับว่ามีพิรุธ ที่พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าทายาททุกคนของนางผันไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย ยินยอมให้จำเลยที่ 1 รับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง แต่ผู้เดียวแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีทายาทคนใดมาเบิกความสนับสนุนหรือมีบันทึกให้ถ้อยคำหรือมีหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทอื่นมาแสดง พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการจดทะเบียนรับมรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้นำทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอีก 6 คน มาให้ถ้อยคำยินยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ การจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงของจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทคนอื่นอีก 5 คน จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81และกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2516) ไม่มีผลให้จำเลยที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ในมรดกที่ดินพิพาททั้งหมดแต่ผู้เดียว การจดทะเบียนรับมรดกคงสมบูรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเพียง 1 ส่วน ใน 7 ส่วนเท่านั้นจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิโอนขายมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนเพียง 1 ส่วนใน 7 ส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ไม่มีสิทธิโอนขายในส่วนของโจทก์และทายาทอื่นอีก 5 คน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงอีก6 ส่วนใน 7 ส่วนยังเป็นมรดกของนางผันอยู่ จำเลยที่ 2 และที่ 3คงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเพียง 1 ส่วนใน 7 ส่วนเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้นเป็นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปลายปี 2526 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายในกำหนด 1 ปีนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 พอแปลได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นมรดกของมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1ถึงแก่กรรม โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ต่อมาจำเลยทั้งสามสมคบกันให้จำเลยที่ 1ไปขอรับมรดกแต่ผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ยินยอม แล้วจำเลยที่ 1ทำนิติกรรมขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันเดียวกัน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับมรดกและการขายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจากจำเลยที่ 1โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ครอบครองมาเกิน 1 ปีแล้วจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความ อันเป็นการอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือแย่งการครอบครอง แต่การแย่งการครอบครองตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นที่ดินต้องเป็นสิทธิครอบครองของผู้อื่นหาได้หมายถึงที่ดินที่ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเองไม่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกเหตุต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ซื้อที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต จำเลยที่ 2และที่ 3 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 559 และเลขที่ 661 ตำบลโคกไทย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาและให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2526 เฉพาะกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์และทายาทอื่นจำนวน 6 ส่วนใน 7 ส่วน เว้นแต่กรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 ส่วนใน 7 ส่วน และให้ใส่ชื่อนางผัน ทรวงดอนกับชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในโฉนดที่ดินเลขที่ 34163 และเลขที่ 23744 ตำบลโคกไทย อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา โดยให้นางผันถือกรรมสิทธิ์รวม 6 ส่วนใน 7 ส่วน และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 7 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share