คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6277/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้วัตถุระเบิด เอเอ็ม-เอฟโอหนัก 600 กรัมและวัตถุระเบิดจำพวกดินดำ 3 ถุง หนัก 500 กรัมทำการระเบิดหินที่บริเวณหน้าผา ของป่าหลังหมู่บ้านแต่เป็นการกระทำเพื่อนำหินที่ได้จากการระเบิดไปถมถนนส่วนที่แฉะและเป็นหลุมเป็นบ่อ อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามกลับตนเป็นพลเมืองดี ศาลฎีกาเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสาม โดยลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยทั้งสามไว้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้จำพวกดินดำ หนักถุงละ100 กรัม จำนวน 2 ถุง และ 300 กรัมจำนวน 1 ถุง รวม 3 ถุงอยู่ในสภาพใช้การได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันมีวัตถุระเบิดเอเอ็ม-เอฟโอที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ หนัก 600 กรัมจำนวน 1 ถุง อยู่ในสภาพใช้การได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายและจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวกับค้อนใหญ่2 เต้า ค้อนเล็ก 2 เต้า แม่แรง 1 อัน ชะแลงใหญ่ 2 อันชะแลงเล็ก 2 อันบันไดไม้ไผ่ 1 อัน บุ้งกี้ 1 อัน และมีด1 เล่ม เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทำการก่อสร้างทำลายหินที่บริเวณหน้าผา ของป่าหลังหมู่บ้านผาแตก หมู่ที่ 10ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายโดยทำการระเบิด ตอกสกัดหินดังกล่าวออกมาจากหน้าผาประมาณ 2 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐประมาณ50,000 บาท โดยมิได้รับอนุญาตและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม่ พ.ศ. 2484 มาตรา 54,72 ตรี, 78 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 38, 55, 74, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33, 83, 91 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสาม คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากป่า
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี(ที่ถูกมาตรา 72 ตรี วรรคหนึ่ง), 74 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 38, 55, 74, 78 (ที่ถูกมาตรา 78 วรรคหนึ่ง)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานก่อสร้างทำลายป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือนลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 2 ปีรวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 3 ปี 6 เดือนและจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 9 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด3 เดือน ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากป่า
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่าเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวทำการระเบิดหินที่บริเวณหน้าผา ของป่าหลังหมู่บ้านแต่เป็นการกระทำเพื่อนำหินที่ได้จากการระเบิดไปถมถนนส่วนที่แฉะและเป็นหลุมเป็นบ่อ อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เมื่อจำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำจึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยทั้งสามไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามฐานก่อสร้างทำลายป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 10,000 บาทและปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่งรวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 3 ปี 6 เดือนและปรับคนละ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือนและปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสามกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 1 ปี 9 เดือนและปรับคนละ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 เดือนและปรับ 5,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามโดยให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลจังหวัดเชียงราย เดือนละ 1 ครั้ง มีกำหนด 1 ปีกับให้จำเลยทั้งสามกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสามเห็นสมควรจำนวน12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share