แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำให้การของจำเลยที่1ตอนแรกเป็นการปฏิเสธว่าเช็คพิพาทไม่ใช่เช็คของจำเลยที่1แต่ตอนหลังกลับให้การว่าหากศาลฟังว่าเช็คพิพาทเป็นของจำเลยที่1จำเลยที่1ก็ขอให้การต่อสู้ต่อไปว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่2โดยไม่สุจริตคำให้การดังกล่าวขัดกันเองเป็นการไม่แสดงให้เห็นแจ้งชัดว่าจำเลยที่1ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนเป็นคำให้การไม่ชอบไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่2โดยไม่สุจริตด้วยคบคิดกับจำเลยที่2ฉ้อฉลจำเลยที่1หรือไม่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่2โดยไม่สุจริตด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นการชำระหนี้ เช็คฉบับนี้เป็นของเช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2529 เป็นเงิน141,000 บาท ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินและมีนายศิริพงศ์ อินทุวงศ์ กรรมการจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อร่วมกับนายเอนก ชัยอภิชิตไพบูลย์ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับนายศิริพงศ์ อินทุวงศ์สั่งจ่ายเช็คฉบับนี้ และมีตราประทับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1จึงเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คฉบับนี้ โจทก์ได้นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิบัติการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า”มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” เมื่อเช็ครับเงินไปได้ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินตามเช็ค แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังย่อมต้องร่วมกันรับผิดในจำนวนเงินตามเช็คต่อโจทก์ จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คจำนวน 141,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะร่วมกันชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท เพราะโจทก์มิใช่ผู้มีตั๋วเงิน (เช็ค) ไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง เช็คตามฟ้องมิใช่เช็คของจำเลยที่ 1 เพราะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ หากฟังว่าเป็นเช็คของจำเลยที่ 1โจทก์ก็ได้รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตคบคิดกับจำเลยที่ 2 ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 กล่าวคือโจทก์ทราบจากจำเลยที่ 2แล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ มาจากบริษัทนนทบุรีมอเตอร์ จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการโดยจำเลยที่ 1 มอบรถยนต์เก่าจำนวน 2 คันให้แก่จำเลยที่ 2 ไปราคาได้เท่าไรแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะจ่ายเงินส่วนที่ยังขาดอยู่ให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป และจำเลยที่ 1 มอบเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 ตรวจพบว่าทะเบียนป้ายวงกลมเป็นทะเบียนปลอม จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้นำเช็คมาคืนและให้จัดการแก้ไขเรื่องทะเบียนป้ายวงกลมเสียก่อน แต่จำเลยที่ 2เพิกเฉย จำเลยที่ 2 จึงได้มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารราชการ พนักงานสอบสวนได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งโจทก์ก็ทราบเป็นอย่างดี แต่ยังสมคบกับจำเลยที่ 2 โดยรับเช็คจากจำเลยที่ 2 นำมาเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินแล้วนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร แต่ศาลจังหวัดสมุทรสาครยกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เพราะแต่ก่อนและหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร จำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินและทรัพย์สินให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 จนครบแล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิมาคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 141,000 บาทนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องและจากวันฟ้องต่อไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นจากจำเลยที่ 1 ได้อีกเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คจำนวน 141,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาว่าคำให้การของจำเลยที่ 1ขัดกันเองในตัว ไม่มีประเด็นจะนำสืบหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การว่าเช็คพิพาทตามฟ้องมิใช่เช็คของจำเลยที่ 1 เพราะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 ไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ หากศาลฟังว่าเช็คพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ก็ขอให้การต่อสู้ต่อไปอีกว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่ 2โดยไม่สุจริต ด้วยการคบคิดกับจำเลยที่ 2 ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวขัดกันเองเป็นการไม่แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน เป็นคำให้การที่ไม่ชอบ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตด้วยคบคิดกับจำเลยที่ 2ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจึงไม่ชอบจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น