แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่ไปศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย ในวันเดียวกันโจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีโจทก์ใหม่ เพราะโจทก์จงใจขาดนัดและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 แม้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลเป็นอุทธรณ์เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ก็มีผลเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) แล้วจำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9.00 นาฬิกา แต่โจทก์และทนายโจทก์มาศาลในวันนัดเวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา เนื่องจากเสมียนทนายโจทก์บอกเวลานัดของศาลแก่ทนายโจทก์ผิดไปเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา ทั้งตามคำร้องขอพิจารณาใหม่ โจทก์และทนายโจทก์ได้ลงชื่อในคำร้องที่ยื่นต่อศาลในวันเดียวกันแสดงว่าโจทก์และทนายโจทก์ไปศาลในวันนัดจริง แต่ไปไม่ตรงตามเวลาเพราะเสมียนทนายบอกเวลานัดพิจารณาคลาดเคลื่อนโจทก์จึงมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาและเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่ต้องห้ามที่โจทก์จะขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ประเด็นข้อพิพาทมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์กับเจ้าของรวมหรือเป็นของจำเลยเท่านั้น ศาลจึงไม่ต้องรับฟังเอกสารสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินของโจทก์กับเจ้าของรวม และหนังสือให้ความยินยอมของเจ้าของรวมให้โจทก์ฟ้องคดี ส่วนแผนที่พิพาทซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ทำขึ้นตามคำสั่งศาล มิใช่เอกสารที่โจทก์เป็นฝ่ายอ้าง โจทก์จึงไม่ต้องเสีย ค่าอ้างเอกสารตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดที่ 932 เพื่อแบ่งที่ดินต่อสำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบนัดทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ และโจทก์ส่งใบนัดรังวัดให้แก่เจ้าของที่ดินข้างเคียงจนครบแล้วเมื่อถึงกำหนดโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินได้ลงหมุดหลักเขตที่ดินจนแล้วเสร็จ แต่จำเลยไม่มาชี้แนวเขตและลงชื่อในใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าพนักงานที่ดินต่อมาจำเลยคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ยแล้ว แต่โจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลขอให้บังคับให้จำเลยยอมรับการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินของโจทก์ และลงลายมือชื่อยอมรับใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าพนักงานที่ดิน และเจ้าของที่ดินข้างเคียง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะจำเลยได้คัดค้านและไม่รับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์โดยสุจริตโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดและปักหลักหมุดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยเป็นการละเมิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ถอนหมุดแนวเขตพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ออกไปจากที่ดินของจำเลย และห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลย ในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโจทก์ได้ส่งใบนัดทำการรังวัดให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ไปชี้แนวเขต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยยอมรับการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินของโจทก์ และลงลายมือชื่อในใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินข้างเคียง ส่วนฟ้องแย้งให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ในเวลา 9 นาฬิกา โจทก์ไม่ไปศาลโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย วันเดียวกันนั้นเวลา 15.40 นาฬิกา โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา แต่เนื่องจากเสมียนทนายแจ้งให้ทราบว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์เวลา 13.30 นาฬิกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนวันที่ 19 กันยายน 2531 หลังจากไต่สวนแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ โดยถือว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัดและเป็นกรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 เพราะศาลมิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ขาดนัดพิจารณา ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่าโจทก์จงใจขาดนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย วันที่ 10 พฤศจิกายน 2532ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและคำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2532ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2531 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้โต้แย้งไว้ในอุทธรณ์คำสั่งแล้วว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ เพราะโจทก์จงใจขาดนัดและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 แม้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลเป็นอุทธรณ์เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ก็ย่อมมีผลเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้
จากการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของโจทก์ ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์กับนายเผด็จชัยทนายโจทก์ว่า พยานทั้งสองได้ไปศาลในวันนัดเวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา เนื่องจากนายอภิชาติ เสมียนทนายโจทก์บอกว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 13.30 นาฬิกา ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอภิชาติที่ว่า พยานบอกเวลานัดของศาลแก่ทนายโจทก์ผิดไปเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา ทั้งตามคำร้องขอพิจารณาใหม่ก็ปรากฏว่าตัวโจทก์และนายเผด็จชัยได้ลงชื่อในคำร้องที่ยื่นต่อศาลในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าตัวโจทก์และทนายโจทก์ไปศาลในวันนัดจริง แต่ที่ไปไม่ตรงตามเวลาก็คงเป็นเพราะนายอภิชาติบอกเวลานัดพิจารณาคลาดเคลื่อนไปซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้จึงเห็นว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา และศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ต้องห้ามที่โจทก์จะขอให้พิจารณาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201
เอกสารหมาย จ.3 คือแผนที่พิพาทซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขนเป็นผู้ทำขึ้นตามคำสั่งศาลชั้นต้นมิใช่เอกสารที่โจทก์เป็นฝ่ายอ้าง โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลจึงชอบที่จะรับฟังได้
พิพากษายืน