คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในเครื่องหมายการค้านั้นตั้งแต่ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ดังนี้ การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งเขียนว่า “TOH KANG” และ “TANG TOH KANG” มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ที่ 2 โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำ คำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ได้มีความหมายว่าทองคำหรือเกี่ยวข้องกับทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษของฝ่ายโจทก์ที่ประกอบกิจการค้าทองคำติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว และยังใช้คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ตลอดมาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งมาประกอบกิจการร้านทองในลักษณะเดียวกับโจทก์ทั้งสองเมื่อปี 2515 และต่อมาในปี 2531 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 จึงได้นำคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นภาษาไทย คำว่า “โต๊ะกัง” เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า “โต๊ะกังบุ้นกี่” เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า “TOA KANG” เป็นอักษรภาษาอังกฤษ กับคำว่า “โต๊ะกังเยาวราช” เป็นอักษรภาษาไทยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเงิน ทอง นาก และอัญมณี ดังนี้ เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้น ทุกเครื่องหมายจะมีคำว่า “โต๊ะกัง” แสดงว่าสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ที่คำว่า “โต๊ะกัง” หาใช่อยู่ที่คำว่า “บุ้นกี่” หรือ “เยาวราช” ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า “โต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทย จีนและอังกฤษของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่ใช้ติดต่อกันมาโดยตลอดเสียไปแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทยและจีน เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกังบุ้นกี่” ซึ่งเป็นภาษาไทยและจีน เครื่องหมายการค้าที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งเขียนว่า “TOA KANG” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกังเยาวราช” ตามทะเบียนเลขที่ 126266, 124884, 145853, 133395 และ 145854 ตามลำดับ กับห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ ในสินค้าจำพวก เงิน ทอง นาก และอัญมณีต่าง ๆ หากโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคราวใด ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 150,000,000 บาท
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง และยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ให้เพิกถอนการจดทะเบียนการค้าของจำเลยที่ 1 ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในศาลอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้อง มิได้ฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้ง ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องประการแรกว่า สิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองจะต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) หรือจะต้องบังคับใช้มาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนในระหว่างปี 2531 ถึงปี 2532 ซึ่งขณะนั้นมี พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยที่ 1 การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในเครื่องหมายการค้านั้นตั้งแต่ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีนี้เมื่อมี พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์ทั้งสองในการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ก็ยังคงมีอยู่ หาได้สูญเสียไปโดยผลของ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ที่ออกมาใช้บังคับในภายหลังไม่ ดังนี้ การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ หาใช่ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในระหว่างปี 2531 ถึงปี 2532 และโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2537 จึงยังไม่เกินกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไว้หรือไม่ เห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้นทุกเครื่องหมายจะมีคำว่า “โต๊ะกัง” ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย จีน หรือภาษาอังกฤษด้วย แสดงว่าสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ที่คำว่า “โต๊ะกัง” หาใช่อยู่ที่คำว่า “บุ้นกี่” หรือ “เยาวราช” ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ ปัญหาว่าคำว่า “โต๊ะกัง” มีความหมายเป็นพิเศษอย่างใดหรือไม่ จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการร้านทองนิยมใช้คำนี้ไปประกอบเป็นชื่อร้านทองของตน ปัญหานี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันว่า คำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ทางฝ่ายโจทก์เป็นผู้ใช้เป็นชื่อยี่ห้อและเครื่องหมายการค้ามาตั้งแต่ปี 2464 และที่สำคัญก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานตราครุฑให้แก่นายเต็กกวง บิดาโจทก์ที่ 2 เจ้าของยี่ห้อ “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นผู้ประกอบกิจการร้านทองในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ร้านของโจทก์ที่ 1 มีชื่อเสียงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการค้าทองของทางฝ่ายโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ได้มีการสืบทอดกิจการนี้มาจากบรรพบุรุษจนถึงวันฟ้องก็เป็นเวลากว่า 80 ปี แล้ว ในขณะที่จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองตึกบริษัทหลานตั้งโต๊ะกัง จำกัด ซึ่งเคยเป็นที่ทำการสาขาของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองเข้าไปขายเสื้อผ้าเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงมาทำกิจการขายทอง หาได้ประกอบกิจการค้าทองมาแต่เดิมไม่ และก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเปิดกิจการค้าขายทองที่อาคารของบริษัทหลานตั้งโต๊ะกัง จำกัด ที่ถนนเยาวราชประมาณ 10 ปีเศษ จำเลยที่ 1 เคยเปิดร้านขายทองใช้ชื่อว่า “แสงเจริญ” แถวย่านพระโขนงโดยใช้เครื่องหมายการค้าตรานกแก้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการดำเนินการร้านขายทองแสงเจริญ จึงไปเปิดร้านขายทองที่ย่านเยาวราชด้วยการใช้อาคารเดิมที่บริษัทหลานตั้งโต๊ะกัง จำกัด เคยเช่าไว้ แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าได้ซื้อกิจการมาจากบริษัทหลานตั้งโต๊ะกัง จำกัด แล้ว จึงมีความชอบธรรมหรือมีสิทธิที่จะนำคำว่า “โต๊ะกัง” มาประกอบเป็นชื่อยี่ห้อในทางการค้าของจำเลยทั้งสองได้ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงได้ชัดเจนว่าบริษัทหลานตั้งโต๊ะกัง จำกัด ได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อในทางการค้าของบรรพบุรุษตนไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าได้ และแม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้นำคำว่า “โต๊ะกัง” ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษไปยื่นจดทะเบียนประกอบกับคำอื่นดังกล่าวมาข้างต้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าทอง นาก เงิน เพชร พลอยของจำเลยทั้งสองและฝ่ายโจทก์ก็ไม่มีผู้ใดไปคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จนนายทะเบียนยอมรับจดทะเบียนให้จำเลยที่ 1 แล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว หากโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ซึ่งจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ การที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษซึ่งเขียนว่า “TOH KANG” และ “TANG TOH KANG” โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำมาก่อนจำเลยทั้งสองเป็นเวลาหลายสิบปีและได้ใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวกทองคำติดต่อกันตลอดมา และโจทก์ที่ 1 ยังใช้คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ในการประกอบกิจการค้าขายทองอีกด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไว้ แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ได้ไปจดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ก็หาทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองที่ใช้ติดต่อกันมาโดยตลอดเสียไปไม่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เป็นการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายฐานลวงขายและค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยทั้งสองเอาชื่อทางการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ของโจทก์ทั้งสองไปใช้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้ มีสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายอยู่ที่คำว่า “โต๊ะกัง” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทย จีน และภาษาอังกฤษ เมื่อใช้กับสินค้าทองคำเช่นเดียวกันจึงเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว กับสินค้าทองคำ แล้วจำเลยทั้งสองนำสินค้านั้นออกขายแก่ประชาชนย่อมเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ของโจทก์ทั้งสองทำการลวงขายสินค้าทองคำของตนว่าเป็นสินค้าทองคำของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการลวงขายของจำเลยทั้งสอง ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการลวงขายของจำเลยทั้งสองได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองคำว่า “โต๊ะกัง” ที่โจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างโจทก์ที่ 1 และใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าทองคำไปใช้เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดห้างขายทองโต๊ะกังเยาวราช” ก็ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 ซึ่งศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

Share