คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเงินเหลือจากการไถ่ถอนจำนองเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นได้ทั้งหมดหาใช่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดๆพอจะชำระหนี้ได้ไม่การที่จำเลยนำเงินไปวางชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาแม้จำเลยได้กระทำในระหว่างระยะเวลา3เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านได้ตามมาตรา115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 ผู้คัดค้านแก้ฎีกาขอให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยโดยมิได้ทำเป็นฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองชั่วคราวในวันเดียวกัน และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทางสอบสวนของผู้ร้องได้ความว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1315/2533 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการเป็นเงินจำนวนประมาณ 16,000,000 บาท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534จำเลยที่ 1 วางเงินชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 เป็นเงินจำนวน16,348,881.76 บาท ซึ่งเป็นการกระทำในระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นโดยมีมูลหนี้เจ้าหนี้รายอื่นได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะวางเงินชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นได้อีก ขอให้เพิกถอนการชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 จำนวนเงิน 16,348,881.76 บาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 ให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1315/2533 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 15,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 เมษายน 2533)เป็นต้นไปแก่ผู้คัดค้านจนกว่าจะชำระเสร็จ ชั้นบังคับคดีเมื่อวันที่24 ธันวาคม 2533 ผู้คัดค้านนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 846, 54872 และ 54873 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1ซึ่งติดจำนองอยู่แก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด เพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน ครั้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 18,252,781.76 บาท วางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านตามคำพิพากษา พร้อมค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านกำลังดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295(1), 292(2) และจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคารสหธนาคาร จำกัด แล้วโอนขายให้แก่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคารสหธนาคาร จำกัด ในวงเงิน 51,000,000 บาท และได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดในราคา 26,000,000 บาท แต่ความจริงแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับเงินทั้งสิ้น 98,400,000 บาท เงินจำนวน 16,348,881.76 บาท ที่จำเลยที่ 1นำมาวางชำระแก่ผู้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ไม่ทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด หากจำเลยที่ 1ไม่นำเงินมาชำระหนี้ ที่ดิน ของจำเลยที่ 1 ทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างก็จะถูกนำออกขายทอดตลาดและเงินที่จำเลยที่ 1ขายได้จำนวน 98,400,000 บาท สามารถนำชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นได้อย่างเพียงพอ ขอให้ยกคำร้อง และให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 16,348,881.76 บาทนับแต่วันที่ผู้ร้องขออายัดเงินดังกล่าวจนกว่าผู้คัดค้านจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้เมื่อวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2534 จำนวนเงิน 16,348,881.76 บาท ระหว่างจำเลยที่ 1กับผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่สั่งให้เพิกถอนนี้จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1315/2533ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 15,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ไม่ชำระผู้คัดค้านขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 846, 54872 และ 54873 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน16,348,881.76 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีอันเป็นการวางเงินชำระหนี้เต็มตามคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงถอนการยึดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสามแปลงจากธนาคารสหธนาคาร จำกัดผู้รับจำนอง แล้วได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด วันที่4 มีนาคม 2534 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองชั่วคราวในวันเดียวกัน และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534ชั้นขอรับชำระหนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 4 ราย รวมทั้งโจทก์และผู้คัดค้านรวมเป็นเงิน 28,395,167.08 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่จำเลยที่ 1นำเงินจำนวน 16,348,881.76 บาท ไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีอำนาจขอเพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ ได้ความตามทางนำสืบของผู้ร้องว่า ขณะจำเลยที่ 1 นำเงินไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยที่ 1ยังไม่ได้ถูกฟ้องขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจะนำเงินไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดนำไปจดทะเบียนขายให้แก่บุคคลอื่นได้ทั้งได้ความจากนายสำเนา สุวรรณสัมพันธ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เบิกความว่า จากการสอบสวนปรากฎว่าที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างติดจำนองแก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด เป็นเงินประมาณ51,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในราคาถึง 98,400,000 บาทดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงยังมีเงินเหลือจากการไถ่ถอนจำนองอีกจำนวนถึงประมาณ 47,400,000 บาท เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นในคดีนี้ได้ทั้งหมดหาใช่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ พอจะชำระหนี้ได้ไม่ เพราะได้ความว่านี้ที่มีผู้ขอรับชำระในคดีนี้นอกจากหนี้ของผู้คัดค้านที่ได้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ด้วยแล้วคงมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นอีกเพียง 11,613,724.08 บาท เท่านั้นการที่จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 16,348,881.76 บาท ไปวางชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้จำเลยที่ 1 ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านได้ตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ผู้คัดค้านแก้ฎีกาขอให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยนั้น เมื่อผู้คัดค้านมิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share