คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6269/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างตามฟ้องโจทก์เป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดส.แต่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดส.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1077(2)และมาตรา1087จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมดังนั้นเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดส.ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดส.หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงก็ได้ตามแต่จะเลือกทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา291เมื่อหนี้ดังกล่าวอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า50,000บาทโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้โดยตรงทันทีมิใช่ว่าต้องขอให้จำเลยล้มละลายร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดส.หรือต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา89แต่ทางเดียวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้าง ต้องรับผิดชอบร่วมกับห้างดังกล่าวในบรรดาหนี้ทั้งหลายโดยไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้างได้เสียภาษีอากรไม่ครบถ้วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อโจทก์รับจะผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างพร้อมเงินเพิ่ม แต่กลับเพิกเฉยไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา5 ปี จำนวน 48,979.80 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 179,592.60บาท ซึ่งจำเลยต้องร่วมรับผิดด้วยหนี้ดังกล่าวกำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า30 วัน แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ทั้งไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลอุทธรณ์ตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า การฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จำกัด ความรับผิดล้มละลาย ต้องฟ้องให้ล้มละลายร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 7, 9, 10หรือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 88, 89 เท่านั้นเมื่อโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดให้ล้มละลายไม่ได้ จึงฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายไม่ได้เช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้หรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้างเป็นหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 4ตุลาคม 2522 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2523 รวม 1 ปี คิดเป็นค่าภาษีเงินได้และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 130,612.80 บาท เมื่อวันที่22 ธันวาคม 2526 จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้างได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 179,592.60 บาทพฤติการณ์จำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างตามฟ้องโจทก์เป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้าง แต่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้างซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077(2) และมาตรา 1087 จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมดังนั้นเมื่อห้างห้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้าง ผิด นัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้องแก่โจทก์ และเป็นภาษีอากรค้างเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้าง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงก็ได้ตามแต่จะเลือกทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อหนี้ดังกล่าวกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาทโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้โดยตรงทันที มิใช่ว่าต้องขอให้จำเลยล้มลายร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสมพรเมืองเลยก่อสร้างหรือต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89แต่ทางเดียวไม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป

Share