คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ว่าเจ้าหนี้จะมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับถัดจากวันที่ตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1002 ก็ตาม แต่คำขอของลูกหนี้ที่ 3 ที่ขอให้ เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2534และวันที่ 5 ธันวาคม 2534 กำหนดใช้เงินในวันที่ 7 มกราคม 2535 วันที่ 19 มกราคม 2535 และ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2535 ให้แก่บริษัท ซ. ตามเอกสารหมายจ.9 ถึง จ.11 หนังสือคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงิน ทั้งสามฉบับดังกล่าวซึ่งแต่ละฉบับทำขึ้นในวันเวลาเดียวกัน กับที่ลูกหนี้ได้ออกตั๋วแลกเงิน แม้ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อ แต่ฝ่ายเดียว ก็ถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอให้เจ้าหนี้ รับรองและยินยอมต่อเจ้าหนี้ให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้อง ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ตามจำนวนเงินตาม ตั๋วแลกเงินที่ได้สั่งจ่ายแต่ละฉบับตามคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23 ข้อ 1 และลูกหนี้ยังได้เสนอให้สิทธิต่อเจ้าหนี้จะยอมชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้จนครบถ้วนถ้าหากเรียกคืนตามตั๋วแลกเงินที่ยังขาดอยู่พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนอกเหนือจากตั๋วแลกเงิน ตลอดจนลูกหนี้ยินยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เจ้าหนี้ต้องจ่ายเงินไปเกี่ยวกับการที่เจ้าหนี้ต้องรับผิดแทนลูกหนี้ ทั้งยังยินยอมให้เจ้าหนี้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ ถ้ามีเงินฝากอยู่กับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้า ครั้นเมื่อครบกำหนด 60 วันนับแต่วันออกตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับ เจ้าหนี้ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท ซ. ตามที่ลูกหนี้ขอให้เจ้าหนี้จ่ายเงิน ถือได้ว่าเจ้าหนี้ตกลงหรือยินยอมปฏิบัติตามคำขอของลูกหนี้เป็นการสนองความประสงค์ของลูกหนี้แล้ว จึงเกิดเป็นสัญญาผูกพันกันตามที่ตกลงนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะปฏิเสธว่าคำขอให้รับรองตั๋วแลกเงินของลูกหนี้ไม่มีความผูกพันหรือเป็นเพียงเอกสารประกอบการขอให้รับรองตั๋วแลกเงินโดยสิ้นความผูกพันไปพร้อมกับอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่ได้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำขอให้รับรองตั๋วแลกเงินที่ลูกหนี้ได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) หรือมาตรา 193/30(ใหม่) คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าว จึงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสามไว้เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538ธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้รับรองตั๋วแลกเงิน จำนวน1,418,997.77 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 ตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่ามูลหนี้อันดับที่ 1 ลูกหนี้ที่ 3 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 830,704.24 บาท เจ้าหนี้ขอมา 840,580.67 บาทจึงขอมามากไป 9,876.43 บาท สำหรับมูลหนี้อันดับที่ 2หนี้รับรองตั๋วแลกเงิน เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 578,417.10 บาทเจ้าหนี้เป็นผู้รับรองตั๋วแลกเงินได้ชำระเงินตามตั๋วให้แก่ผู้ทรงจึงเข้ารับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967, 226, 229(3) เจ้าหนี้ใช้สิทธิของผู้ทรงจึงต้องฟ้องไล่เบี้ยภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดตามมาตรา 1002 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 26 มกราคม 2539 หนี้จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 1 จำนวน 830,704.24 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 29169 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3)หากขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้และขาดอยู่เท่าใดให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 ตามมาตรา 130(8)ที่ขอเกินมาให้ยกเสีย และในส่วนหนี้อันดับที่ 2 เห็นควรให้ยกเสียตามมาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 2 จำนวน 578,417.10 บาท อีกจำนวนหนึ่งจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 29196 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หากขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้และขาดอยู่เท่าใดให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 ตามมาตรา 130(8) และหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายประยูร อัมภาพรรณ ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใด ให้สิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ลดลงไปเพียงนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ลูกหนี้ที่ 3 ได้ออกตั๋วแลกเงินเลขที่ 16/2534ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 สั่งจ่ายเงิน 118,200 บาท ในวันที่ 7 มกราคม 2535 ตั๋วแลกเงินเลขที่ 17/2534 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 สั่งจ่ายเงิน 120,450 บาทในวันที่ 19 มกราคม 2535 และตั๋วแลกเงินเลขที่ 18/2534ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2534 สั่งจ่ายเงิน 120,600 บาท ในวันที่3 กุมภาพันธ์ 2535 ให้เจ้าหนี้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินทั้งสามฉบับให้แก่บริษัท ซี.ซี.ออยล์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11ทั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 และวันที่ 5 ธันวาคม 2534 ลูกหนี้ที่ 3 ได้ทำคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินโดยลูกหนี้ที่ 3 ยอมตกลงว่า หากเจ้าหนี้ต้องชำระเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวทั้งสามฉบับ ลูกหนี้ที่ 3 ยินยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้จนครบถ้วนรวมทั้งดอกเบี้ย ตลอดจนยินยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งลูกหนี้ที่ 3 ยอมชำระค่าธรรมเนียมในการที่เจ้าหนี้เป็นผู้รับรองตั๋วแลกเงินในอัตราร้อยละ 1.5 ของจำนวนเงินในตั๋วแลกเงิน ตามเอกสารหมายจ.21 ถึง จ.23 เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวเจ้าหนี้ได้จ่ายเงินตามจำนวนในตั๋วแลกเงินให้แก่บริษัท ซี.ซี.ออยล์ จำกัด ไปจนครบถ้วนแล้ว แต่ลูกหนี้ที่ 3 ผิดนัดไม่ชำระหนี้วันที่ 26 มกราคม 2539 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นับแต่วันที่3 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นเวลา 3 ปี 11 เดือน 23 วัน
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้สำหรับหนี้ตามคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินทั้งสามฉบับขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับถัดจากวันที่ตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า คำขอของลูกหนี้ที่ 3ที่ขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 และวันที่ 5 ธันวาคม 2534 กำหนดใช้เงินในวันที่ 7 มกราคม 2535วันที่ 19 มกราคม 2535 และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2535 ให้แก่บริษัทซี.ซี.ออยล์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11หนังสือคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินทั้งสามฉบับดังกล่าวซึ่งแต่ละฉบับทำขึ้นในวันเวลาเดียวกันกับที่ลูกหนี้ที่ 3 ได้ออกตั๋วแลกเงิน แม้ลูกหนี้ที่ 3 จะลงลายมือชื่อแต่ฝ่ายเดียวก็ถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอให้เจ้าหนี้รับรองและยินยอมต่อเจ้าหนี้ให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 3 ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ตามจำนวนเงินตามตั๋วแลกเงินที่ได้สั่งจ่ายแต่ละฉบับตามคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23 ข้อ 1 และลูกหนี้ที่ 3 ยังได้เสนอให้สิทธิต่อเจ้าหนี้จะยอมชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้จนครบถ้วนถ้าหากเรียกคืนตามตั๋วแลกเงินที่ยังขาดอยู่พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนอกเหนือจากตั๋วแลกเงิน ตลอดจนลูกหนี้ที่ 3 ยินยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เจ้าหนี้ต้องจ่ายเงินไปเกี่ยวกับการที่เจ้าหนี้ต้องรับผิดแทนลูกหนี้ที่ 3 ทั้งยังยินยอมให้เจ้าหนี้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ที่ 3 ถ้ามีเงินฝากอยู่กับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 3 ทราบล่วงหน้าครั้นเมื่อครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันออกตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับเจ้าหนี้ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทซี.ซี.ออยล์ จำกัด ตามที่ลูกหนี้ที่ 3 ขอให้เจ้าหนี้จ่ายเงิน ถือได้ว่าเจ้าหนี้ตกลงหรือยินยอมปฏิบัติตามคำขอของลูกหนี้ที่ 3 เป็นการสนองความประสงค์ของลูกหนี้ที่ 3 แล้ว จึงเกิดเป็นสัญญาผูกพันกันตามที่ตกลงนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะปฏิเสธว่าคำขอให้รับรองตั๋วแลกเงินของลูกหนี้ที่ 3 ไม่มีความผูกพันหรือเป็นเพียงเอกสารประกอบการขอให้รับรองตั๋วแลกเงินโดยสิ้นความผูกพันไปพร้อมกับอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่ได้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำขอให้รับรองตั๋วแลกเงินที่ลูกหนี้ที่ 3ได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 (เดิม) หรือมาตรา 193/30 (ใหม่) คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)”
พิพากษายืน

Share