แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 106 ทวิ ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62, 62 ตรี, 106, 106 ทวิ, 106 ตรี, 116 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91, 97 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 92 ริบคีตามีนของกลางและเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนกับฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 97 เป็นจำคุก 3 ปี ริบคีตามีนของกลาง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเลขที่ 56003214 จังหวัดสมุทรปราการ มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ อีกกระทงหนี่ง ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 8 เดือน เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 12 เดือน ฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 8 เดือน ฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด คงจำคุก 8 ปี 10 เดือน 20 วัน รวมจำคุก 9 ปี 6 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจโท จิรพัฒน์ และสิบตำรวจตรี ณัฐวุฒิ กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรพระประแดง ร่วมกันจับกุมจำเลยที่บริเวณริมถนนสุขสวัสดิ์ใกล้บริษัทลัคกี้ จำกัด และยึดคีตามีนชนิดน้ำ 17 ขวด ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 10.389 กรัม เป็นของกลาง แล้วเจ้าพนักงานตำรวจเก็บตัวอย่างปัสสาวะของจำเลยส่งไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลบางจาก โดยนางสาวจินตนา นักเทคนิคการแพทย์ประจำโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นผู้ตรวจหาสารเสพติดให้โทษในปัสสาวะ และกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับความผิดฐานเสพคีตามีน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ ก็สืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจตรี ณัฐวุฒิ พยานโจทก์สืบทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์จำหน่ายคีตามีนที่บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ จึงทำบันทึกรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 4 นาฬิกา สิบตำรวจตรี ณัฐวุฒิ ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยจะใช้รถยนต์สีขาวติดป้ายทะเบียนสีแดง ไปจำหน่ายยาเสพติดที่บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ จึงรายงานให้ร้อยตำรวจโท จิรพัฒน์ พยานโจทก์ทราบ หลังจากนั้นพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกก็ออกเดินทางไปติดตามหารถยนต์คันดังกล่าว จนกระทั่งพบรถยนต์ของจำเลยจอดอยู่บริเวณหน้าบริษัทลัคกี้ จำกัด ริมถนนสุขสวัสดิ์ แล้วพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกก็สามารถจับกุมจำเลยพร้อมยึดคีตามีน 17 ขวด มาเป็นของกลางประกอบคดีได้ ชั้นสอบสวนจำเลยยังให้การรับสารภาพ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของจำเลยโดยสังเขป แหล่งที่มาของคีตามีนซึ่งอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยเอง รวมตลอดถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมในสาระสำคัญ โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโท ธีรศักดิ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เป็นผู้สอบสวนจำเลยและบันทึกคำให้การดังกล่าว พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะเบิกความปรักปรำจำเลยจึงไม่มี คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักน่าเชื่อถือควรแก่การรับฟัง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายเพื่อให้จำเลยให้การรับสารภาพ และจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนไม่ได้อ่านข้อความให้จำเลยฟังนั้น เลื่อนลอย ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ยากที่จะรับฟัง นอกจากนี้ปรากฏในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเพิ่มเติมลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็บันทึกคำให้การของจำเลยไปตามนั้น แสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ปราศจากการกลั่นแกล้ง โดยเมื่อจำเลยไม่ประสงค์จะลงลายมือชื่อในเอกสารฉบับใด เจ้าพนักงานตำรวจก็หมายเหตุไว้ในเอกสารฉบับนั้น เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย นี้จะเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวมีเหตุผลอันหนักแน่น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยจึงสนับสนุนให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจับกุมที่ด่านเจ้าหน้าที่ทหารและอาสาสมัครตำรวจชุมชนบริเวณสามแยกพระประแดงไม่ใช่บริเวณหน้าบริษัทลัคกี้ จำกัด และการตรวจค้นรถยนต์ของจำเลยไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีคีตามีน 17 ขวด ของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อคีตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 10.389 กรัม อันมีปริมาณเกินกว่า 0.500 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้ออื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า นางสาวจินตนาและนายณัฐพลเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนเช่นเดียวกับร้อยตำรวจโท จิรพัฒน์ และร้อยตำรวจโท ธีรศักดิ์ เหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยจึงไม่มี ทั้งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่ก็สอดคล้องกันตามลำดับเหตุการณ์โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ประกอบกับการตรวจปัสสาวะของจำเลยโดยร้อยตำรวจโท จิรพัฒน์ นางสาวจินตนา และนายณัฐพลก็มีผลตรงกันว่าพบสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของจำเลย ที่จำเลยฎีกาอ้างทำนองว่า รายงานผลการตรวจของโรงพยาบาลบางจาก ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 เวลา 11.22 นาฬิกา เป็นเวลาหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุม การที่บันทึกการจับกุมระบุผลการตรวจไว้ล่วงหน้าจึงเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า บันทึกการจับกุมมีข้อความเพียงว่า ได้ทำการตรวจปัสสาวะของจำเลยพบสารเมทแอมเฟตามีน จึงนำตรวจที่โรงพยาบาลบางจากเพื่อรับรองผล หาได้มีการระบุผลการตรวจตัวอย่างปัสสาวะของจำเลยที่โรงพยาบาลบางจาก ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับขี่รถยนต์อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยข้ออื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ทั้งศาลฎีกาก็ไม่ได้ยกขึ้นวินิจฉัยฟังลงโทษจำเลย จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และศาลฎีกาเห็นควรกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง, 140 วรรคหนึ่ง ฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว เป็นจำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 2 ปี 16 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์