แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานเพราะเป็นการเลิกจ้างตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยเนื่องจากโจทก์มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยเพราะโจทก์สร้างความขัดแย้งแตกแยกในหมู่พนักงาน จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว อ้างว่าสาเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยดังกล่าวแต่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีความผิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสียหายอันจะถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้เช่นนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ในปี 2536 โจทก์ทำงานกับจำเลยเต็มปีทางบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการซึ่งจำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปี ได้รับเต็มจำนวนหมายถึง เท่ากับเงินเดือน 1 เดือน จำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสสำหรับปี 2536 ให้แก่โจทก์จำนวน 18,140 บาท ส่วนจะได้รับเท่าใดนั้น ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า การที่จำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีได้รับเต็มจำนวนคือ เงินเดือน 1 เดือน เมื่อระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการระบุว่า พนักงานเต็มปี 53.08 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน538,273.61 บาท หมายถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปี ได้รับเต็มจำนวนคือ 53.08 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน 1 เดือน หาใช่หมายถึงได้รับเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสปี 2536 จำนวน 53.08เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนจำนวน 1 เดือน เท่านั้น คือ 18,140 บาท คิดเป็นเงิน 9,628.71 บาท
ความในข้อ 31 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่กำหนดว่าถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี บทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเรื่องค่าเสียหายที่นายจ้างจะต้องจ่ายระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีไม่
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติกำหนดอัตราดอกเบี้ยของค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างไว้ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 224ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น