คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท โดยโจทก์มีส่วนอยู่หนึ่งในสี่ โจทก์และจำเลยไปขอแบ่งแยกที่สำนักงานที่ดินโดยทำบันทึกตกลงกันไว้ในบันทึกดังกล่าวไม่มีข้อความกำหนดให้ชัดเจนว่าโจทก์ได้ส่วนแบ่งที่ดินตรงจุดไหน มีความกว้างยาวไปทางทิศใดเท่าไร จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์ต้องยอมรับการแบ่งที่ดินดังกล่าวได้เมื่อโจทก์จำเลยยังตกลงกันไม่ได้โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ 445 ตำบลบางตลาด (บางค้างคาว)อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเนื้อที่ 15 ไร่ 78 ตารางวา โดยโจทก์มีส่วนอยู่หนึ่งในสี่ โจทก์และจำเลยทั้งสองไปขอแบ่งแยกที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราสาขาบางคล้า โดยทำบันทึกตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย ล.1วันที่ 9 กันยายน 2519 เจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแต่ตกลงกันไม่ได้

คดีมีปัญหาว่า โจทก์จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม (จำกัดเนื้อที่) เอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า”ข้อ 1. ตัวข้าพเจ้าผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดแปลงเครื่องหมายดังกล่าวข้างบนนี้ บัดนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนของตนออกจากกันรวม 1 แปลง ดังนี้คือ แบ่งแปลงที่ 1 ทางทิศเหนือด้านตะวันออกให้เป็นของนางสาวลักเซียะ จำกัดเนื้อที่ให้ได้ 4 ไร่ ส่วนแปลงคงเหลืออยู่ทางทิศตะวันตกให้เป็นของนางสาวทิพย์วรรณกับนางสาวจรินทร์

ข้อ 2. จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินโปรดสั่งให้ช่างแผนที่ออกไปทำการรังวัดให้ข้าพเจ้าด้วย ฯลฯ” ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างลงชื่อในช่องลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ เห็นว่าข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุไว้แต่เพียงว่าทางทิศตะวันออกเป็นของโจทก์จำกัดเนื้อที่ให้ได้ 4 ไร่เท่านั้น ไม่มีข้อความกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นที่ดินตรงจุดไหน มีความกว้างหรือยาวไปทางทิศใดเท่าไร จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์ต้องยอมรับแบ่งที่ดินตรงที่จำเลยทั้งสองจะแบ่งให้ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดแบ่งแยก โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้แบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง”

พิพากษายืน

Share