คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6249/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลูกจ้างนำรถกระบะของโจทก์ที่เช่าซื้อมาออกไปจากสาขาของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1นำเช็คของผู้มีชื่อซึ่งสั่งจ่ายเงินเพื่อชำระราคารถส่วนส่วนที่เหลือไปมอบให้โจทก์ เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการติดตามหนี้สินอันเกิดจากการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์ แม้โจทก์ยอมรับเช็คดังกล่าวไว้เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถกระบะส่วนที่เหลือ กรณีก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เต็มใจยอมรับเอาผลเสียหายจากการที่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ติดใจที่จำเลยที่ 1นำรถกระบะออกไปจากสาขาของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์อย่างจริงจัง โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างเพียงว่า จำเลยที่ 1 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างในการอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเท่านั้น แม้โจทก์มิได้อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานหรือจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาจ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานและผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขณะจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งพนักงานขายสาขาลาดพร้าว จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดระเบียบอย่างร้ายแรง ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบเรื่องจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับผิดความเสียหายที่เกิดขึ้น จำนวน 277,000 บาทจนบัดนี้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจำนวน 277,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2536 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1แจ้งเรื่องต่อโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 63,180 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 340,180 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 340,180 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน277,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่พนักงานขายสาขาลาดพร้าว จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น ขณะจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยที่ 1 นำรถกระบะคันที่โจทก์ฟ้องออกจากสาขาลาดพร้าวไปไว้ที่เต็นท์ของบริษัทเอ.เค.เอส. มอเตอร์ (1993)จำกัด ก่อนได้รับอนุมัติจากผู้จัดการสาขา ต่อมาเมื่อวันที่10 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 นำรถกระบะคันดังกล่าวให้บริษัทเอ.เค.เอส.มอเตอร์ (1993) จำกัด โดยนายอนันต์ ดีเทศเช่าซื้อในราคา 311,000 บาท ชำระเงินวันเช่าซื้อจำนวน34,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 277,000 บาท นายอนันต์สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ แต่เช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อหลังจากนั้นนายอนันต์สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทยสาขาหัวหิน จำนวน 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 277,000 บาท แทนเช็คฉบับที่โจทก์ร้องทุกข์ โจทก์จึงถอนคำร้องทุกข์ ต่อมาปรากฏว่าเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวโจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอหัวหินให้ดำเนินคดีแก่นายอนันต์ ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิพากษาจำคุกนายอนันต์ คดีถึงที่สุด โจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม การที่จำเลยที่ 1นำรถกระบะคันดังกล่าวออกไปจากสาขาลาดพร้าวก่อนได้รับอนุมัติจากผู้จัดการสาขาลาดพร้าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์ และจำเลยที่ 1 มีผลประโยชน์ร่วมกับได้รับประโยชน์จากนายอนันต์ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 277,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 277,000 บาท นับแต่วันที่24 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คของนายอนันต์ ดีเทศ สั่งจ่ายเงินราคารถส่วนที่เหลือไปมอบให้โจทก์ภายหลังเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายอนันต์จนนายอนันต์ถูกศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว แสดงว่าโจทก์เต็มใจยอมรับเอาผลเสียหายอันเกิดแก่โจทก์ในอนาคต ไม่ได้ถือเอาเหตุที่จำเลยที่ 1 นำรถออกจากสาขาลาดพร้าวเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างจริงจังจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 นำรถกระบะออกไปจากสาขาลาดพร้าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 นำเช็ค 3 ฉบับของนายอนันต์ซึ่งสั่งจ่ายเงินเพื่อชำระราคารถส่วนที่เหลือจำนวน 277,000 บาทไปมอบให้โจทก์ก็เป็นการเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1ในการติดตามหนี้สินอันเกิดจากการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์นั่นเอง แม้โจทก์ยอมรับเช็คดังกล่าวไว้เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถกระบะส่วนที่เหลือ กรณีก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เต็มใจยอมรับเอาผลเสียหายจากการที่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้และถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จำเลยที่ 1 นำรถกระบะออกไปจากสาขาลาดพร้าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์อย่างจริงจังดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง ส่วนที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างเพียงว่า จำเลยที่ 1ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างในการอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเท่านั้น แม้โจทก์มิได้อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานหรือจำเลยที่ 1ประพฤติผิดสัญญาจ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานและผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใดจำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share