คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงมีผู้พิพากษานายเดียวลงนามให้จำคุกจำเลย 1 ปี ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ซึ่งจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 (ที่ถูกมาตรา 78 วรรคหนึ่ง),157, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูกฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี ฐานหลบหนีไม่ช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษานายเดียวลงนามให้จำคุกจำเลย 1 ปี ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ซึ่งจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี จึงต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณียังไม่สมควรวินิจฉัยฎีกาจำเลยในข้ออื่น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ

Share