แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
ดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยชำระไปแล้วตามสัญญาคำนวณแล้วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาแก่จำเลย แต่โจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยเริ่มนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 268,305 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 214,946.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยชำระไปแล้วตามสัญญาคำนวณแล้วได้เท่ากับอัตราร้อยละ 36 ต่อปีเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาแก่จำเลย แต่โจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม ดังนั้น ดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด หาใช่ดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งโจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยไม่ เมื่อหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 22 ตุลาคม 2541 จึงครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2541 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.