คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกศาลแพ่งพิพากษาให้ล้มละลาย บริษัทโจทก์ย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) แต่ตามมาตรา 1249 ให้พึงถือว่าบริษัทโจทก์ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และการชำระบัญชีของโจทก์อันเป็นบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายแต่จะทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1247 วรรคแรก ซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 มาตรา 24 และมาตรา 25 จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วย
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุก มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยกรรมการผู้มีอำนาจสามารถฟ้องร้องคดีอาญาได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1190 เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2532 ถึงเดือนเมษายน 2542 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จำเลยกับพวกซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องร่วมกันบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อครอบครองที่ดินของโจทก์ โดยขุดดินปลูกสร้างโรงเรือน และทำลายทรัพย์สินมีเจตนาถือครองที่ดินของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นางโกสม สุชาตะประคัลภ์ และนางโสภินทร์ เต็มเจริญ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์โดยนางโกสุมและนางโสภินทร์ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราดังกล่าวมอบอำนาจให้นายมานพ พลจันทร์ ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1190 ตำบลคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร และก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดเมื่อปี 2526 และพิพากษาให้โจทก์ล้มละลายเมื่อปี 2527 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ล. 153/2526 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกศาลแพ่งพิพากษาให้ล้มละลาย บริษัทโจทก์ย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 (5) แต่ตามมาตรา 1249 ก็ให้พึงถือว่าบริษัทโจทก์ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และการชำระบัญชีของโจทก์อันเป็นบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1247 วรรคแรก ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้” มาตรา 24 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้” และมาตรา 25 บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์…” เห็นได้ว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น หาได้รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่ โดยการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งที่กระทบต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงนั้นเป็นอำนาจของของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการดำเนินการตามมาตรา 22 (3) สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุก ขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญาแต่เพียงผู้เดียว มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 22 (3) ดังกล่าวที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยกรรมการผู้มีอำนาจสามารถฟ้องร้องคดีอาญาได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและมอบอำนาจให้นายมานพ พลจันทร์ ฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับชั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาอื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป.

Share