แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ พ. สามีโจทก์พร้อมทั้งบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาท พ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และโจทก์ยอมให้ พ. พร้อมบริวารมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด พ. ถึงแก่ความตายเมื่อประมาณปี 2537 ต่อมาปี 2539 จำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน แต่โจทก์คัดค้านว่าเป็นที่ดินที่ พ. ครอบครองมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ต่อจำเลย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2540 โดยกล่าวอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 เป็นการกล่าวอ้างถึงสิทธิที่ได้ครอบครองร่วมกันมากับ พ. ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิของ พ. นั่นเอง จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นคู่ความเดียวกับ พ. โดยประเด็นที่วินิจฉัยเป็นเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1879 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ซึ่งจำเลยได้มาโดยคำสั่งศาลเมื่อปี 2529 ทั้งที่โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวบางส่วนบริเวณด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ตั้งแต่ปี 2500 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตลอด ด้วยเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของอำแดงชาติม่ายยายของโจทก์ ต่อมาทางราชการตัดถนนผ่านที่ดินที่โจทก์ครอบครอง เป็นเหตุให้ที่ดินแยกเป็นสองส่วน โดยด้านทิศเหนือเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 62 ตารางวา และทิศใต้เนื้อที่ 88 ตารางวา แต่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540 จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินโฉนดดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง โดยที่จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่เลย โจทก์ใช้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนตามฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินทั้งสองส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครอง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวต่อไป และให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนกับรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าว แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1879 เป็นของอำแดงรักหรือนางรักซึ่งเป็นยายของจำเลย มีการยกให้จนตกมาเป็นของจำเลยและจำเลยก็ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาจนศาลจังหวัดสระบุรีมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 188/2529 ของศาลจังหวัดสระบุรี หลังจากนั้นจำเลยฟ้องขับไล่นายพิกุล พรมหนู สามีโจทก์ให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรี ซึ่งสามีโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยยอมให้สามีโจทก์และบริวารพักอาศัยในที่ดินต่อไป ศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลจังหวัดสระบุรี ต่อมาสามีโจทก์ถึงแก่ความตายและในปี 2539 จำเลยให้เจ้าพนักงานที่ดินไปรับวัดที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์คัดค้าน โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้โจทก์กับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของจำเลยแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ที่ดินดังกล่าวหากนำออกให้บุคคลอื่นเช่าทำประโยชน์จะได้ค่าเช่าเดือนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์กับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 24 หมู่ 4 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี กับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของจำเลย ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของจำเลย ซึ่งค่าเสียหายนี้คิดถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 7,000 บาท และห้ามโจทก์กับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์และสามีไม่เคยขออาศัยที่ดินดังกล่าวปลูกบ้านตามฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์คัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยก็เนื่องจากจำเลยนำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ สามีโจทก์ไม่เคยถูกจำเลยฟ้องคดีขับไล่ตามฟ้องแย้งของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์และบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1879 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี บริเวณที่พิพาทซึ่งอยู่ภายในเส้นสีเขียวและภายในเส้นสีน้ำเงินของแผนที่วิวาทหมาย จ.ล.1 ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในอัตราเดือนละ 500 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 2,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดสระบุรี) หรือไม่ คดีต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1879 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสระบุรี ต่อมาจำเลยจดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2529 ตามเอกสารหมาย ล.4 โจทก์มีสามีชื่อนายพิกุล พรมหนู โจทก์กับสามีและบริวารพักอาศัยที่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 4 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งปลูกอยู่บริเวณที่ดินภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาทหมาย จ.ล.1 โดยมีร้านค้าของนางสอน บุษรา (ที่ถูกนายสอน บุศรา) ปลูกอยู่บริเวณที่ดินภายในเส้นสีน้ำเงินตามแผนที่วิวาทดังกล่าว จำเลยคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายพิกุลสามีโจทก์เป็นจำเลยพร้อมทั้งบริวารให้ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1879 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้น โดยนายพิกุลตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์คือจำเลยคดีนี้จริง และโจทก์คือจำเลยคดีนี้ยอมให้นายพิกุลพร้อมบริวารมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 11 และศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นนั้นเป็นการต้องห้ามฎีกาดังกล่าวมาข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า กรณีจะถือว่าโจทก์คดีนี้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ คดีได้ความว่า โจทก์เป็นภริยาของนายพิกุลซึ่งเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้น ตามทางนำสืบโจทก์ก็นำสืบว่า โจทก์ครอบครองที่ดินร่วมกันมากับนายพิกุลสามีโจทก์และสามีโจทก์ถึงแก่ความตายไปเมื่อประมาณปี 2537 ต่อมาปี 2539 จำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน แต่โจทก์คัดค้านว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองอยู่เป็นที่ดินที่นายพิกุลครอบครองมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ต่อโจทก์ และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2540 โดยกล่าวอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 เป็นการกล่าวอ้างถึงสิทธิที่ได้ครอบครองร่วมกันมากับนายพิกุลสามีโจทก์และครอบครองสืบมา ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิของนายพิกุลสามีโจทก์นั่นเอง จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นคู่ความเดียวกับนายพิกุลสามีโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยประเด็นที่วินิจฉัยเป็นเหตุอย่างเดียวกันและคดีก่อนศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 11 ซึ่งนายพิกุลสามีตกลงยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.