แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้รับขนทอดสุดท้ายร่วมกับผู้รับขนทางเรือจากต่างประเทศ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเฮกรูลส์เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีเฮกรูลส์ซึ่งประเทศไทยนำมาใช้จนเป็นประเพณีแล้วและฟังไม่ได้ว่ามีการระบุดังกล่าวไว้ด้านหลังใบตราส่งกรณีจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะรับขนอันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับขนสินค้าโดยทางทะเลทั้งในและนอกประเทศได้ติดต่อทำพิธีศุลกากรและเอกสารต่างๆรวมทั้งการให้มีการขนถ่ายสินค้าติดต่อกับกรมเจ้าท่าให้มีเรือนำร่องเรือมาที่ท่าและทำการจองท่าเรือเพื่อให้เรือเข้าจอดเป็นผู้ติดต่อกับกองตรวจคนเข้าเมืองขออนุญาตให้ลูกเรือเข้าประเทศไทยประกาศหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับตารางเรือเทียบท่าเพื่อให้ผู้รับตราส่งมาติดต่อเพื่อทำการขนถ่ายสินค้ามีหน้าที่ออกใบปล่อยสินค้าโดยจำเลยได้รับค่าตอบแทนจากการดำเนินการนั้นหากไม่มีจำเลยช่วยดำเนินการแล้วสินค้าก็ลงจากเรือและส่งมอบให้แก่เจ้าของสินค้าไม่ได้นอกจากนั้นจำเลยเองก็มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าโดยทางทะเลทั้งในและนอกประเทศจำเลยจึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยเป็นผู้รับช่วงการขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงถือได้ว่าผู้ขนส่งสินค้าส่งมอบสินค้าแล้วเมื่อวันที่3พฤษภาคม2532อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวนั้นปรากฏว่าจำเลยให้การว่าเมื่อขนส่งมอบสินค้าแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยในวันที่3พฤษภาคม2532ในสภาพเรียบร้อยผู้ขนส่งจึงพ้นความรับผิดตามสัญญารับขนคดีนี้จำเลยให้การเพียงว่าคดีโจทก์ขาดอายุความใน1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา624ดังนี้ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าอายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่3พฤษภาคม2532จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนสินค้าทั้งทางบกและทางทะเล โดยร่วมกับบริษัทเรือในต่างประเทศเพื่อขนสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและส่งออกไปต่างประเทศเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2532 บริษัทแจ๊กเจีย-สมิธ แอนด์เนฟฟิว จำกัดได้สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในประเทศฝรั่งเศส และผู้ขายได้จัดส่งสินค้าทั้งหมดมายังประเทศไทยโดยเรือเดินทะเลเอเวอร์เจนทรีในการขนส่งบริษัทแจ๊กเจีย-สมิธ แอนด์ เนฟฟิว จำกัด เอาประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าในระหว่างขนส่งไว้กับโจทก์ ทุนประกัน 417,032 ฟรังก์ฝรั่งเศส โดยตกลงอัตราแลกเปลี่ยน 4.1025 บาท ต่อ 1 ฟรังก์ฝรั่งเศส จำเลยเข้ารับช่วงขนส่งสินค้าในช่วงสุดท้ายจากเรือเดินทะเลนำมาส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทาง แต่เมื่อสินค้ามาถึงปลายทางปรากฏว่าสินค้าเปียกน้ำในระหว่างขนส่งเสียหายไป 370 กล่อง คิดเป็นเงิน63,891 ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือ 262,114.96 บาท จำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมรับขนส่งต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการขนส่งด้วยบริษัทแจ๊กเจีย-สมิธ แอนด์เนฟฟิว จำกัด จึงเรียกร้องไปยังจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระ จึงเรียกร้องมายังโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายไปจำนวน 262,114.96 บาท ให้แก่บริษัทแจ๊กเจีย-สมิธ แอนด์เนฟฟิว จำกัด แล้วเมื่อวันที่5 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 279,035.74 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน262,114.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในประเทศไทยของบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด มิใช่ผู้ร่วมทำการขนส่งหรือเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เกี่ยวกับสินค้าพิพาทคดีนี้ บริษัทเอเวอร์กรีน มารีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ทำสัญญารับขนส่งสินค้าทางทะเลกับบริษัทคัลเบอร์ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อขนส่งสินค้าจากประเทศฝรั่งเศสมายังประเทศไทย จำเลยในฐานะตัวแทนของบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับขนส่งจึงต้องอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับผู้รับใบตราส่งโดยแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับใบตราส่ง และดำเนินการให้มีการขนส่งสินค้าโดยติดต่อว่าจ้างให้บุคคลภายนอกและการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้า ในฐานะตัวแทนไม่ได้เข้าทำสัญญารับขนสินค้าแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศ และจำเลยไม่ใช่คู่สัญญารับขนส่งสินค้ากับบริษัทคัลเบอร์ซัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งสินค้าจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 ปรากฏว่าสภาพภายนอกของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยของความเสียหาย และผู้รับขนส่งได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้รับขนส่งจึงหมดภาระความรับผิดตามสัญญารับขน แม้ต่อมาปรากฏว่าสินค้าในตู้บางส่วนเปียกน้ำก็ตาม จำเลยในฐานะตัวแทนของผู้รับขนส่งสินค้าจึงไม่ต้องรับผิดเช่นกัน นอกจากนี้ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในเรื่องรับขนทางทะเล ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับแต่มีประเพณีปฏิบัติปฏิบัติที่นำเอาข้อบังคับตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งลงนามที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมค.ศ.1924 หรือที่เรียกว่าเฮกรูลส์ อันเป็นประเพณีที่ใช้กันทั่วโลกมาใช้บังคับไม่ได้ สินค้าพิพาทเปียกน้ำโดยผู้รับขนส่งมิได้เกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้รับขนส่งไม่ต้องรับผิดตามกฎเฮกรูลส์ ดังกล่าว ความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน2,000 บาท และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 262,114.96 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาจำเลยข้อที่ว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ร่วมขนส่ง แต่เป็นเพียงตัวแทนของสายการเดินเรือที่ส่งสินค้าพิพาท ศาลฎีกาเห็นว่า นายยงยศ พยานจำเลยอีกปากหนึ่งก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าจำเลยได้ติดต่อทำพิธีการศุลกากรและเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งการติดต่อให้มีการขนถ่ายสินค้า การติดต่อกับกรมเจ้าท่าเรือให้มีเรือนำร่องเรือของสายการเดินเรือเอเวอร์กรีน มาที่ท่าและทำการจองท่าที่การท่าเรือเพื่อให้เรือเข้าจอด เป็นผู้ติดต่อกับกองตรวจคนเข้าเมืองขออนุญาตให้ลูกเรือเข้าประเทศไทย มีหน้าที่ประกาศหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับตารางที่เรือเทียบท่า เพื่อให้ผู้รับตราส่งมาติดต่อเพื่อทำการขนถ่ายสินค้า มีหน้าที่ออกใบปล่อยสินค้าที่เรียกว่า ใบดีโอ ให้แก่ผู้รับตราส่งด้วย ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบในการนำสินค้าออกจากท่า หากไม่มีเอกสารดังกล่าวจะไม่สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้ จำเลยได้รับค่าตอบแทนจากการดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวจากบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน คอร์ปอเรชั่น จำกัดข้อเท็จจริงจากพยานจำเลยดังกล่าว เห็นได้ว่า หากไม่มีจำเลยช่วยดำเนินการแล้ว สินค้าก็ลงจากเรือและส่งมอบให้แก่เจ้าของสินค้าไม่ได้ นอกจากนั้นจำเลยเองก็มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าโดยทางทะเลทั้งในและนอกประเทศ ฉะนั้น จำเลยจึงเป็นผู้ดำเนินการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเป็นผู้รับช่วงการขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคท้าย บัญญัติว่ารับขนทางทะเลท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี จึงต้องปฏิบัติตามกฎของเฮกรูลส์ ซึ่งประเทศไทยนำมาใช้จนเป็นประเพณีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่ากฎเฮกรูลส์ที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยจะต้องนำสืบ ซึ่งจำเลยอ้างนายยงยศเบิกความเป็นพยานว่า มีกฎเฮกรูลส์ ปรากฏตามสำเนาและคำแปลเอกสารหมาย ล.9 และกฎดังกล่าวได้ระบุไว้ในข้อ 5 และข้อ 10 ด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4 ด้วย ปรากฏว่านายยงยศอายุ 31 ปี เป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยมา 5 ปี ไม่ปรากฏว่าสำเร็จการศึกษาชั้นใด มีความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศเพียงใด คำเบิกความของนายยงยศจึงไม่มีน้ำหนัก ทั้งเอกสารหมาย ล.9 เป็นเพียงภายถ่าย คำแปลเอกสารหมายล.9 จำเลยก็ไม่ได้นำผู้แผลมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล พยานหลักฐานจำเลยจึงเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ากฎเฮกรูลส์ ดังกล่าวซึ่งประเทศไทยนำมาใช้จนเป็นประเพณีแล้วและฟังไม่ได้ว่ามีการระบุกฎดังกล่าวไว้ด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมายจ.4 กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะรับขน อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 616 และ 618
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่าผู้รับตราส่งคือบริษัทแจ๊กเจีย-สมิธ แอนด์เนฟฟิว จำกัด รับมอบตู้คอนเทนเนอร์พิพาทในวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิฟ้องคดีนี้ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2533 จึงไม่พ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบสินค้าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ถือว่าผู้ขนส่งสินค้าส่งมอบสินค้าแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม2532 อายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าจำเลยให้การว่าเมื่อผู้ขนส่งส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 ในสภาพเรียบร้อย ผู้ขนส่งสินค้าจึงพ้นความรับผิดตามสัญญารับขน เกี่ยวกับอายุความนั้นจำเลยให้การเพียงว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 เท่านั้น จำเลยมิได้อ้างว่าอายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2532 ดังนี้ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน