คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าสัญญาจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของโจทก์เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4619 ตำบลหนองหว้า (ท่าคล้อ) อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างนายอินศร ชินวงศ์ กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2537 เฉพาะพื้นที่ด้านทิศใต้เนื้อที่ 9 ไร่ 69 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทรายนางกองมี เพ็งบุญ ระวาง 5938, 7434, 7634 ตำบลท่าคล้อ (หนองหว้า) อำเภอเบญจลักษ์ (กันทรลักษ์) จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งรังวัดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2544 เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองเฉพาะส่วนดังกล่าว หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างนายอินศรกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ว่า นายอินศร ชินวงศ์ มีบุตรคือจำเลยที่ 1 นายอินศรกับทายาทอื่นของนายเขียว ชินวงศ์ มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3213 เนื้อที่ที่ระบุในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 35 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวยังมีที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิอีก 7 ไร่ 31 ตารางวา รวมอยู่ด้วย ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์และสำเนาแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2532 นายอินศรทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์เป็นที่ดินซึ่งอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำนวน 12 ไร่ 69 ตารางวา และที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิ 7 ไร่ 31 ตารางวา ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และโจทก์ได้รับมอบการครอบครองไปแล้วปี 2533 นายอินศร ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งแปลงไปขอออกโฉนด และได้รับโฉนดเลขที่ 4619 เนื้อที่ 31 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ส่วนโจทก์นำที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิที่ซื้อจากนายอินศรไปออกโฉนดเป็นโฉนดเลขที่ 15596 เนื้อที่ 7 ไร่ 31 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2537 นายอินศรนำโฉนดที่ดินเลขที่ 4619 ทั้งแปลงไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 420,000 บาท ไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโดยสุจริตตามสำเนาสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.8 เห็นว่า นายอินศรขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่นายอินศรได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของนายอินศรจึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 และ 1378 นายอินศรไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแล้วจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดเป็นของนายอินศรและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างนายอินศรกับจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง และพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share