คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และเป็นมารดาของ ก. จะได้ทำหนังสือรับใช้หนี้ให้แก่โจทก์แทน ก. โดยระบุไว้ในหนังสือฉบับดังกล่าวทำนองว่า เป็นการรับชดใช้หนี้ที่ ก. มีต่อโจทก์ ก็ตาม แต่โดยที่ ก.เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาเช่าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมาจากโจทก์ และเป็นผู้เดียวซึ่งรับผิดชอบดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเช่นนี้ หนี้ตามหนังสือรับใช้หนี้แทนซึ่งจำเลยที่ 2 ทำไว้ย่อมหมายความถึงหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจำเลยที่ 1โดย ก. สั่งซื้อมาจากโจทก์แล้วยังมิได้ชำระราคา ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและยืมบริภัณฑ์ของโจทก์ หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1ได้ซื้อน้ำมันชนิดต่าง ๆ และรับผลิตภัณฑ์น้ำมันไปจากโจทก์หลายครั้งแต่ยังไม่ได้ชำระราคารวมเป็นเงิน 2,793,585.15 บาทต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และเป็นมารดาของนายก้องเกียรติ กิจวิวัฒนกุล กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ (ที่ถูกคือหนังสือรับใช้หนี้แทน) ตกลงยินยอมชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้โจทก์และได้ออกเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สาขานนทบุรี จำนวน 2,000,000 บาทและ 793,585.15 บาท มอบให้โจทก์ไว้เพื่อเรียกเก็บเงิน ต่อมาเมื่อโจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,961,200.26 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าสถานีบริการ และยืมบริภัณฑ์จากโจทก์ นายก้องเกียรติเป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่เคยสั่งซื้อน้ำมัน ไม่เคยรับน้ำมันหรือเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง หนังสือรับสภาพหนี้(ที่ถูกคือหนังสือรับใช้หนี้แทน) ตามฟ้องเป็นการรับสภาพหนี้ของนายก้องเกียรติ ไม่ใช่หนี้ของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน2,793,585.15 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 2จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เริ่มต้นทำกิจการสถานีบริการน้ำมัน โดยทำสัญญาเช่าสถานีบริการน้ำมันกับโจทก์มีกำหนด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าบริษัทเกียรติกมลปิโตรเลี่ยม จำกัด โดยนายก้องเกียรติกิจวิวัฒนกุล กรรมการเป็นผู้เช่าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ แต่บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.3ใช้ชื่อว่า บริษัทเกียรติกมลบริการ จำกัด มีนายก้องเกียรติกิจวิวัฒนกุล เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการ แสดงให้เห็นว่าการดำเนินกิจการของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งนี้มีนายก้องเกียรติเป็นผู้ดำเนินกิจการรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวจำเลยที่ 2 เป็นมารดาของนายก้องเกียรติซึ่งเป็นผู้เริ่มกิจการโดยร่วมกันก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมา แม้หนังสือรับใช้หนี้แทนเอกสารหมาย จ.29 จะเขียนว่านายก้องเกียรติกิจวิวัฒนกุล เป็นหนี้บริษัทคูเวตปิโตรเลี่ยม (ประเทศไทย) จำกัดก็ย่อมหมายความถึงหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งสั่งซื้อน้ำมันโดยนายก้องเกียรตินั่นเอง ทั้งนี้เพราะนายก้องเกียรติเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความยอมรับว่า นายก้องเกียรติเป็นผู้ดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันที่เช่าจากโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมีความเชื่อมโยงแจ้งชัดไม่มีข้อสงสัยแต่ประการใด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share