แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ได้ทำละเมิด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นการทำละเมิด เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 จำนวนเงิน90,000 บาทโจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวนเงินคนละ 60,000บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่6 แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 4ไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ พ. ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การในข้อนี้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของ พ. หรือไม่ไม่ทราบไม่รับรอง ซึ่งเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของ พ. หรือไม่ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่5 ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง หลังเกิดเหตุก่อนที่ พ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ทำบันทึกชดใช้ค่าเสียหายโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตกลงใช้เงินจำนวน150,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ตกลงว่าค่าเสียหายส่วนอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันและที่จะมีขึ้นต่อไป โจทก์ที่ 1จะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆจากจำเลยที่ 4 และที่ 5บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผลให้หนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่มีอยู่ระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 จะมาฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วหาได้ไม่ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ การที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามจะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5แทนผู้เยาว์ทั้งสามซึ่งถือเป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ทั้งสามจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1574(8) เดิม(มาตรา 1574(12) ที่ได้ตรวจชำระใหม่)เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าขาดไว้อุปการะจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 การใช้สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่5 และที่ 6 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 5 และที่ 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกา เลิศตรงจิตร โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 กับนางพันธุ์ผกาโจทก์ที่ 5 และที่ 6 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารและเป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-1407 เชียงราย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดเชียงราย – เชียงใหม่ จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขับรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-1407 เชียงราย จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและรับจ้างบรรทุกสิ่งของ เป็นเจ้าของรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน80-6007 เชียงใหม่ จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และที่ 5เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6007 เชียงใหม่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2530 นางพันธุ์ผกานั่งรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-1407 เชียงราย ของจำเลยที่ 1 และที่ 2โดยมีจำเลยที่ 3 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขับจากสถานีขนส่งอาเขต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จะไปลงที่บ้านห้วยหมาเฒ่า ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายรถคันดังกล่าวออกจากสถานีขนส่งเวลา 16 นาฬิกา เมื่อรถไปถึงบ้านแม่ดอกแดง หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ตจังหวัดเชียงใหม่ เป็นทางขึ้นเนินเขา จำเลยที่ 3 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ชิดท้ายรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6007 เชียงใหม่ ที่จำเลยที่ 6 ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกรถตักดิน มีแขนกลของรถตักดินยื่นออกมาทางด้านท้ายรถบรรทุก รถบรรทุกแล่นขึ้นเนินเขาช้าและหมดกำลังจึงถอยลงจากเนินเขา รถโดยสารประจำทางที่จำเลยที่ 3 ขับแล่นชิดซ้ายรถบรรทุกไม่สามารถขับถอยหนีทำให้แขนกลของรถตักดินที่ยื่นออกมาจากท้ายรถบรรทุกชนรถโดยสารประจำทางนางพันธุ์ผกาซึ่งนั่งอยู่ทางด้านหน้าซ้ายถูกแขนกลกระแทกได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องตัดแขนข้างขวาและร่างกายเป็นอัมพาตรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จนถึงวันที่ 4 มกราคม2531 จึงถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งคนโดยสารและผู้ครอบครองรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน10-1407 เชียงราย จำเลยที่ 4 และที่ 5 เจ้าของและผู้ครอบครองรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6007 เชียงใหม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก โจทก์ที่ 1 เสียเงินค่าจัดงานศพนางพันธุ์ผกาเป็นเงิน 121,000 บาท โจทก์ที่ 1ขาดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,000 บาท มีกำหนด 10 ปี เป็นเงิน120,000 บาทค่าขาดแรงงานซึ่งนางพันธุ์ผกาเป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าพันทวีเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน60,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายปัจจุบันอายุ 15 ปีต้องขาดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าอายุครบ 20 ปี รวมเป็นเงิน 90,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายปัจจุบันอายุ 7 ปี ต้องขาดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ1,500 บาท จนกว่าอายุครบ 20 ปี รวมเป็นเงิน 234,000 บาทแต่ขอคิดเพียง 230,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายปัจจุบันอายุ 4 ปี ต้องขาดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,500 บาทจนกว่าอายุครบ 20 ปี รวมเป็นเงิน 288,000 บาท แต่ขอคิดเพียง280,000 บาท โจทก์ที่ 5 และที่ 6 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ขาดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 10 ปี รวมเป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ที่ 1 จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ตาย 333,254 บาท ได้รับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ 4 แล้วเป็นเงิน 150,000 บาทรวมค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 1,204,354 บาท กับค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2530อันเป็นวันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 57,145 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้เงินจำนวน 1,261,499 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,204,354 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกา โจทก์ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่รับรอง โจทก์ที่ 5และที่ 6 มิใช่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกาจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน10-1407 เชียงราย เหตุเกิดขึ้นมิใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 แต่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 6 ผู้ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6007 เชียงใหม่ เนื่องจากรถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกรถตักดินแล่นอยู่ข้างหน้าไม่มีกำลังขึ้นเนินเขา จำเลยที่ 3หยุดรถคอยระวังเหตุห่างประมาณ 40 เมตร เด็กประจำรถบรรทุกใช้ขอนไม้หนุนล้อหลังด้านซ้ายแต่ไม่สามารถทานน้ำหนักได้ รถบรรทุกถอยข้ามขอนไม้ลงมา จำเลยที่ 3 ขับรถถอยหนีได้ประมาณ 50-60 เมตรแต่รถบรรทุกถอยลงมาจากเนินเขาลักษณะส่วยไปมาจึงเกิดอุบัติเหตุแขนกลรถตักดินทิ่มแทงทะลุกระจกหน้าด้านซ้ายของรถจำเลยที่ 1นางพันธุ์ผกานั่งอยู่ตอนหน้าของรถโดยสารประจำทางลุกขึ้นยืนจึงถูกแขนกลของรถตักดินกระแทกได้รับบาดเจ็บสาหัส หากไม่ลุกขึ้นยืนก็จะไม่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นความประมาทของนางพันธุ์ผกาเองโจทก์ที่ 1 รักษาพยาบาลนางพันธุ์ผกาไม่ถูกต้อง รถโดยสารประจำทางของจำเลยที่ 1 ถูกรถบรรทุกจำเลยที่ 6 ขับชนได้รับความเสียหายเป็นเงิน 139,000 บาท หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 4 และที่ 5 เสนอชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 เพียง 43,000 บาท แต่จำเลยที่ 1ไม่ตกลง ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อีก ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของนางพันธุ์ผกาไม่ถึง 121,000 บาท ใช้จ่ายไปเพียง 14,600 บาทเท่านั้น นางพันธุ์ผกาไม่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 มิได้ขาดแรงงานโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากนางพันธุ์ผกา โจทก์ที่ 5 และที่ 6ไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ส่วนค่ารักษาพยาบาลของนางพันธุืผกาเป็นเงินไม่เกิน 56,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ต้องรับผิดคือจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกา แต่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง และโจทก์ที่ 5และที่ 6 ไม่ใช่บิดามารดาของนางพันธุ์ผกา วันเกิดเหตุจำเลยที่ 6เช่ารถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6007 เชียงใหม่ ไปบรรทุกตักดิน เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3ขับรถด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถบรรทุกค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งหกเรียกมาสูงเกินความจริง ค่าจัดงานศพเพียง 16,300 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะและค่าขาดแรงงานในครอบครัวโจทก์ที่ 1ไม่มีสิทธิเรียกได้ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ โจทก์ที่ 5 และที่ 6มิใช่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเช่นกัน ส่วนค่ารักษาพยาบาล โจทก์ทั้งหกจ่ายไปเพียง 30,000 บาทรวมเงินค่าเสียหายของโจทก์ทั้งหกเพียง 46,300 บาท โจทก์ที่ 1และนางพันธุ์ผกาตกลงรับเงินค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5ไปแล้วจำนวน 150,000 บาท และสละสิทธิไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 183,254 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำนวน 120,000 บาท และเงินค่าขาดแรงงานจำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 4ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินค่าปลงศพจำนวน 77,900 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน90,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 230,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4จำนวน 280,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 และที่ 6 คนละ 60,000 บาท กับให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 รับผิดค่าดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ทั้งหก และจำเลยที่ 4 ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหก และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ได้ทำละเมิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นการทำละเมิด เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2จำนวนเงิน 90,000 บาท โจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวนเงินคนละ 60,000 บาททุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 มา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 แต่ละคนเกินกว่าสองแสนบาท ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถโดยสารประจำทางได้ถอยมา 40 ถึง 50 เมตรแล้วจึงเกิดชนกันขึ้น ซึ่งตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.2 ก็ปรากฏว่าเนินเขากับจุดที่รถชนกันมีระยะห่างกันมาก จำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นละเมิดจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5ประการแรกมีว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่า ที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกา ส่วนโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ก็ไม่ใช่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกาจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 มีจำนวนเงิน 90,000 บาท ของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 มีจำนวนเงินคนละ 60,000 บาท ซึ่งทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางพันธุ์ผกานั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5ให้การในข้อนี้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของนางพันธุ์ผกาหรือไม่ ไม่ทราบไม่รับรอง ซึ่งเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองคดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของนางพันธุ์ผกาหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5ข้อต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 4และที่ 5 หรือไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 4 และที่ 5 นำสืบรับกันว่าหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 4 และที่ 5ได้เจรจาตกลงกับโจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของนางพันธุ์ผกาซึ่งได้รับมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.1ก่อนที่นางพันธุ์ผกาถึงแก่ความตายว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5ยอมชดใช้เงินจำนวน 150,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 กับนางพันธุ์ผกาครบถ้วนแล้วตามบันทึกเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.8 เห็นว่าหลังเกิดเหตุก่อนที่นางพันธุ์ผกาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ทำบันทึกชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย ล.5 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตกลงใช้เงินจำนวน 150,000 บาทและโจทก์ที่ 1 ตกลงว่าค่าเสียหายส่วนอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันและที่จะมีขึ้นต่อไป โจทก์ที่ 1 จะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5เป็นผลให้หนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5ที่มีอยู่ระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เมื่อจำเลยที่ 4และที่ 5 ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 จะมาฟ้องจำเลยที่ 4และที่ 5 เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วหาได้ไม่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนส่วนอื่นตามที่โจทก์ที่ 1เรียกร้องมาอีก ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้นยังเป็นผู้เยาว์การที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามจะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 แทนผู้เยาว์ทั้งสาม ซึ่งถือเป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ทั้งสามจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(8)เดิม(มาตรา 1574(12) ที่ได้ตรวจชำระใหม่) เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4และที่ 5 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยที่ 4และที่ 5 สำหรับโจทก์ที่ 5 และที่ 6 นั้น เห็นว่า การใช้สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 5 และที่ 6เมื่อตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ด้วยโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยที่ 4และที่ 5 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 4และที่ 5 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2