คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรของ ร. ซึ่งเกิดจาก ส. มารดา ก่อนส. ถึงแก่กรรม ส. ได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้ ร. และโจทก์ โดยระบุให้ ร. เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมา ร. สมรสกับจำเลย และ ร. ได้ลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิที่พิพาทไว้ในฐานะผู้จัดการมรดก ก่อน ร. ถึงแก่กรรม ร. ไม่ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ เพียงแต่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาว่าจะแบ่งทรัพย์ของตนให้แก่บุตร และให้โจทก์ลงชื่อไว้ในหนังสือด้วยเท่านั้น แล้ว ร. ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวในส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาส่วนของตนคืนได้เสมอ โดยไม่มีอายุความฟ้องร้อง เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382, 1383 ฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล และมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหม่อมเจ้ารัตโนภาศกับหม่อมสนิท กาญจนะวิชัย หม่อมสนิทถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๖ หม่อมเจ้ารัตโนภาศได้สมรสกับจำเลย เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๘๖ หม่อมสนิทได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้โจทก์ทั้งสองกับหม่อมเจ้ารัตโนภาศ โดยระบุตั้งให้หม่อมเจ้ารัตโนภาศเป็นผู้จัดการมรดก แต่การจัดการมรดกดำเนินไปโดยไม่สุจริต โดยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๑๘๑ ซึ่งหม่อมสนิทได้รับมรดกจากคุณหญิงหงษ์มารดา และผู้จัดการมรดกของคุณหญิงหงษ์ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้หม่อมเจ้ารัตโนภาศลงชื่อเป็นผู้รับโอนไว้ในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมสนิท ให้แก่จำเลยประเภทให้โดยเสน่หา เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามพินัยกรรมต้องเสียเปรียบ และที่ดินโฉนดที่ ๑๗๓๓ เดิมหม่อมสนิทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาหลังจากสมรสและมีบุตร ๒ คน คือโจทก์ หม่อมสนิทได้จดทะเบียนโอนให้โจทก์ทั้งสองกับหม่อมเจ้ารัตโนภาศ ลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับหม่อมสนิท รวมเป็น ๔ คนด้วยกัน ครั้นเมื่อหม่อมสนิทถึงแก่กรรม ส่วนของหม่อมสนิทเป็นมรดกตกแก่โจทก์ทั้งสองและหม่อมเจ้ารัตโนภาศตามพินัยกรรม ต่อมาวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๖ หม่อมเจ้ารัตโนภาศขอรับมรดกของหม่อมสนิทเป็นของตนโดยอ้างว่าไม่มีพินัยกรรม ส่วนของหม่อมเจ้ารัตโสภาศจึงมี ๒ ใน ๔ ส่วน ความจริงส่วนของหม่อมสนิทนี้เป็นสินเดิมของหม่อมสนิทที่ตกได้แก่โจทก์ และเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๗ หม่อมเจ้ารัตโนภาศได้จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ส่วนที่ปรากฏชื่อหม่อมเจ้ารัตโนภาสนั้นให้จำเลยโดยไม่ชอบและไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ ๕๑๘๑ และ ๑๗๓๓ ระหว่างหม่อมเจ้ารัตโนภาศผู้โอน กับจำเลยผู้รับโอน ในส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองและหม่อมเจ้ารัตโนภาศเพื่อนำมาแบ่งตามพินัยกรรมหรือขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวระหว่างหม่อมเจ้ารัตโนภาสผู้โอน กับจำเลยผู้รับโอน เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของหม่อมสนิทที่ตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง และสั่งเจ้าพนักงานที่ดินแก้รายการจดทะเบียนการโอน
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนที่ดินโดยสุจริต เพราะที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของหม่อมเจ้ารัตโนภาศเพียงผู้เดียวตามสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ฉบับลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ลงนามในสัญญานี้ด้วย สำหรับที่ดินโฉนดที่ ๑๗๓๓ จำเลยรับโอนมาเพื่อประโยชน์ในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทายาททุกฝ่าย จำเลยพร้อมที่จะโอนเฉพาะส่วนที่เคยเป็นของหม่อมสนิทคืนให้โจทก์ตามส่วนที่ระบุไว้ในสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ส่วนที่ดินโฉนดที่ ๕๑๘๑ ตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของหม่อมเจ้ารัตโนภาศตามสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก หม่อมเจ้ารัตโนภาศมีสิทธิโอนให้จำเลยหรือบุคคลใดก็ได้ การแบ่งทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นตามสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๑๗๓๓ ที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของโจทก์ทั้งสองตามส่วนที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กับให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๑๘๑ เฉพาะ ๒ ใน ๙ ส่วน เป็นของโจทก์ทั้งสองคนละ ๑ ส่วน คำขอของโจทก์ให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินแก้รายการจดทะเบียน เป็นวิธีปฏิบัติในชั้นบังคับคดี ไม่จำต้องสั่งไว้ในคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีปัญหามาสู่ศาลฎีกา เฉพาะที่ดินแปลงพิพาทโฉนดที่ ๕๑๘๑ ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนให้ระหว่างหม่อมเจ้ารัตโนภาศผู้โอนกับหม่อมอรุณผู้รับโอน เฉพาะส่วนที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองได้หรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหม่อมเจ้ารัตโนภาศกับหม่อมสนิท หม่อมสนิทถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่หม่อมเจ้ารัตโนภาศและโจทก์ทั้งสอง โดยระบุให้หม่อมเจ้ารัตโนภาศเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๐ หม่อมเจ้ารัตโนภาศสมรสกับหม่อมอรุณ จำเลย ที่ดินแปลงพิพาทโฉนดที่ ๕๑๘๑ จำนวน ๑ ใน ๓ เป็นมรดกของหม่อมสนิทตกแก่หม่อมเจ้ารัตโนภาศและโจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม หม่อมเจ้ารัตโนภาศลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ในฐานะผู้จัดการมรดก ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๐๖ หม่อมเจ้ารัตโนภาศได้จดทะเบียนยกที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลย
จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบทรัพย์ให้บุตร (เอกสารหมาย ล.๑) เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ที่ดินแปลงพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากแบ่ง ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของหม่อมเจ้ารัตโนภาศตามข้อสัญญา หม่อมเจ้ารัตโนภาศมีสิทธิโอนยกให้จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือฉบับนี้ไม่เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก เป็นแต่หนังสือแสดงเจตนาของหม่อมเจ้ารัตโนภาศว่าจะแบ่งทรัพย์ของตนให้แก่บุตรเท่านั้น ต้องถือว่าทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของหม่อมสนิทยังไม่ได้แบ่ง และไม่ทำให้ที่ดินแปลงพิพาทนี้ตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของหม่อมเจ้ารัตโนภาศ ฉะนั้น ในการที่หม่อมเจ้ารัตโนภาศเอาที่ดินแปลงพิพาทในส่วนที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนยกให้จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกคืน
จำเลยฎีกาเกี่ยวด้วยเรื่องอายุความว่า เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สินของผู้ตายตกเป็นกองมรดก โจทก์ทั้งสองยังไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิติดตามเอาคืน และการฟ้องร้องเพิกถอนนิติกรรม ต้องนำมาตรา ๒๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับ ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องภายในกำหนด ๑ ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ บัญญัติว่า “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” จะเห็นได้ว่ามรดกของผู้ตายย่อมตกเป็นของทายาท ในเมื่อเจ้ามรดกตาย ฉะนั้น ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตั้งแต่เจ้ามรดกตาย เหตุนี้เมื่อหม่อมเจ้ารัตโนภาศเอาที่ดินแปลงพิพาทส่วนที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนยกให้จำเลยโดยไม่มีอำนาจ กรณีเช่นว่านี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอ ไม่มีอายุความฟ้องร้อง เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยมาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๓ โจทก์จึงจะหมดสิทธิติดตามเอาคืน และฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องใช้สิทธิติดตามเอากรรมสิทธิ์ที่ดินของตนคืน มิใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗ และมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก
พิพากษายืน

Share