แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนั้น วิธีอายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในภายหลังก็ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดีเช่นเดียวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรง โดยไม่จำต้องกระทำก่อนหลังตามลำดับเลขหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 282 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น
มาตรา 310 ที่บัญญัติว่า ‘เมื่อได้มีการยึดทรัพย์แล้ว สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้น ให้จัดการดังต่อไปนี้ ฯลฯ’ นั้นมีความหมายว่า เมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ซึ่งในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และ หมวด 2 บัญญัติวิธีการยึดทรัพย์ไว้ก่อนการอายัดอันเป็นบทมาตราที่เรียงต่อกันมาเท่านั้นมิได้มีความหมายจำกัดว่า จะต้องทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนแล้วจึงจะอายัดสิทธิเรียกร้องได้
ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการอายัดเงินค่าหุ้นจาก พ. มิใช่คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหากแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปตามคำสั่งของศาลเท่านั้น
ข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ส่งคำสั่งอายัดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีถึงผู้ร้องไม่มีข้อห้ามชำระเงินแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือว่าห้ามลูกหนี้งดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้อง ผู้ร้องไม่ได้ว่ามาแต่ศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ขอให้ศาลบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีต่อนายพานิชผู้ร้องอันเป็นเงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องยังไม่ได้ชำระให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นเงิน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการอายัดเงินจำนวนนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดไปยังผู้ร้องแล้ว แต่ผู้ร้องโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงเสียก่อน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายพานิชปฏิบัติตามคำสั่งอายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายพานิชผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของศาลแจ้งคำสั่งให้นายพานิชทราบ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 282 คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนั้น วิธีอายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในภายหลังก็ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดีเช่นเดียวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงโดยไม่จำต้องกระทำก่อนหลังตามลำดับเลขหมายที่ระบุไว้ในมาตรานั้น ส่วนมาตรา 310 ที่บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการยึดทรัพย์แล้ว สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้น ให้จัดการดังต่อไปนี้ ฯลฯ” นั้น มีความหมายว่าเมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ซึ่งในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และ หมวด 2 บัญญัติวิธีการยึดทรัพย์ไว้ก่อนการอายัดอันเป็นบทมาตราที่เรียงต่อกันมาเท่านั้น มิได้มีความหมายจำกัดว่า จะต้องทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนแล้วจึงจะอายัดสิทธิเรียกร้องได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 8 เมษายน 2512 ระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการอายัดเงินค่าหุ้นจากนายพานิชลูกหนี้ของจำเลยเป็นเงิน 100,000 บาทแล้วมิใช่คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหากแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปตามคำสั่งของศาลเท่านั้น ข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ส่งคำสั่งอายัดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคือจำเลยทราบ กับที่ว่า คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีถึงผู้ร้องไม่มีข้อห้ามให้ชำระเงินแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือว่าห้ามลูกหนี้งดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องแต่อย่างไร ในคำสั่งมีเพียงให้นายพานิชส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดอย่างเดียวนั้นไม่ได้ว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน