แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีเด็กผู้เยาว์ถูกทำละเมิด อันมีผลให้เด็กมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดนั้น เป็นการที่เด็กจะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนเด็กผู้ใช้อำนาจปกครอง จะต้องขออนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็ก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ในทางการที่จ้างขนโจทก์โดยประมาท เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เฉพาะเท่าที่ตกลงกันต่อพนักงานสอบสวน ตามบันทึกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ผิดสัญญาจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ ๑ โจทก์ขอถอนฟ้อง
คู่ความรับกันว่า จำเลยที่ ๑ กับนายไข่บิดาโจทก์ ได้ตกลงกันที่สถานีตำรวจเรื่องค่าเสียหายตามบันทึกลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๑ แต่บิดาโจทก์กระทำโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บันทึกที่สถานีตำรวจเป็นสัญญาประนีประนอมนายไข่กระทำโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖(๔) ไม่ทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยระงับ พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๙,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ซึ่งบิดาโจทก์มีอำนาจทำได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากศาล เพราะไม่ใช่นิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ผู้เยาว์ สัญญาผูกพันโจทก์ ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดของจำเลยที่ ๑ เป็นอันระงับสิ้นไป และทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างระงับสิ้นไปด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อผู้กระทำละเมิดต่อเด็ก อันมีผลให้เด็กมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่เด็กจะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนเด็ก ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขออนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กตามที่บังคับไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ แต่ในเรื่องนี้นายไข่บิดาเด็กหญิงสิ้มโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๑ โดยลำพังโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมูลละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ก่อขึ้น หามีผลระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นโมฆะไม่นั้น และไม่มีผลผูกพันเด็กหญิงสิ้มโจทก์ประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหาย