แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้หยิบยกข้ออุทธรณ์ของจำเลยขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดในคำพิพากษา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษเหมาะสมแล้วแม้จะให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมว่า การกระทำของจำเลยเป็นการมอมเมาประชาชน ก็เป็นเหตุผลที่ศาลสรุปจากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติจากในสำนวน มิใช่เป็นเรื่องการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่อันเป็นการต้องห้าม ถือว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยและแสดงเหตุผลโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยแล้วคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 แล้ว แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุก จำเลยมีกำหนด 2 เดือน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหา ข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนันพ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 สั่งริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12 จำคุก4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก2 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยแต่กลับนำข้อเท็จจริงนอกเหนืออุทธรณ์ของจำเลยขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการมอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงในอบายมุข อันเป็นการวินิจฉัยโดยการหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมิได้หยิบยกข้ออุทธรณ์ของจำเลยขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดในคำพิพากษาแต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษเหมาะสมแล้วแม้จะให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมว่าการกระทำของจำเลยเป็นการมอมเมาประชาชน ก็เป็นเหตุผลที่ศาลสรุปจากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติจากในสำนวนมิใช่เป็นเรื่องการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่อันเป็นการต้องห้าม ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยและแสดงเหตุผลโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186 แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ และศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรปรานีด้วยการรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีและประกอบสัมมาชีพได้ต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและไม่คิดกระทำผิดอีก จึงสมควรให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย ทั้งเมื่อให้ปรับจำเลยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 5,000 บาท อีกสถานหนึ่งเมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 2,500 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2