แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 นำเรือไปรับจ้างบรรทุกสินค้าแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ตกลงทำกิจการนั้นถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับเรือทำให้บุตรโจทก์ตาย
เอกสารสูติบัตรที่ว่าบิดามารดาเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อ 20 ปีมาแล้ว เป็นแต่การกะประมาณเมื่อแจ้งการเกิดของบุตรไม่ลบล้างพยานหลักฐานและสำเนาทะเบียนบ้านที่ว่าบิดามารดาอยู่กินด้วยกันมากว่า 40 ปีก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 30,000 บาท กับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ผู้ตายมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์และนางบุญชู ภิรมย์เนตรบิดามารดาของนายบุญเลิศผู้ตายเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์กับนางบุญชูเป็นสามีภริยากันตั้งแต่โจทก์อายุ 16 ปี นางบุญชูอายุ 17 ปี อยู่กินด้วยกันเป็นเวลา 7 – 8 ปี จึงเกิดนายสนองบุตรคนแรก ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสาร จ.1 ว่า โจทก์เกิด พ.ศ. 2461 นางบุญชูเกิด พ.ศ. 2460 นายสนองเกิดพ.ศ. 2485 ใน พ.ศ. 2518 โจทก์อายุ 57 ปี นางบุญชูอายุ 58 ปี นายสนองอายุ 33 ปี เมื่อคำนวณระยะเวลาดังกล่าวย้อนหลังขึ้นไป แสดงว่าโจทก์กับนางบุญชูอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาจนถึง พ.ศ. 2518 เป็นเวลาประมาณ 40 ปีแล้ว ก่อนประกาศใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นต้นไป ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เคยแจ้งการเกิดของนายบุญเลิศต่อนายทะเบียนอำเภอบางใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2499 ว่าโจทก์กับนางบุญชูอยู่กินกันมานาน 20 ปีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังปรากฏตามสำเนาสูติบัตรเอกสาร จ.2 ข้อ 28 แสดงว่าโจทก์กับนางบุญชูอยู่กินเป็นสามีภริยากันหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานแจ้งการเกิดของบุตรโจทก์และระยะเวลาที่อยู่กินเป็นสามีภริยากันตามที่โจทก์แจ้งต่อนายทะเบียนก็เป็นการกะประมาณเอาเท่านั้น ไม่พอฟังเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์กับนางบุญชูเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ตายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ โจทก์มีอำนาจฟ้อง” ฯลฯ
“ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามกฎหมายลักษณะตัวการตัวแทน มีได้เฉพาะการให้ทำนิติกรรมแทนตัวการเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1ขับเรือไปรับจ้างบรรทุกสินค้า การให้ขับเรือไม่ใช่การทำนิติกรรม แม้จำเลยที่ 1จะประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือให้จำเลยที่ 1 นำเรือไปรับจ้างบรรทุกสินค้าแทนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ตกลงทำกิจการนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427”
พิพากษายืน