แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่ ก.ลูกจ้างไม่ถูกต้องย่อมถือได้ว่าสิทธิหน้าที่ของโจทก์มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้ว โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
เมื่อปรากฏว่า ก.ลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไปโดยมิได้ยื่นใบลาต่อหัวหน้าหน่วยและโจทก์ก็มิได้มีคำสั่งเลิกจ้าง ก. ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ ก. จะยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 ไม่ได้ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ว่าโจทก์เลิกจ้าง ก.เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 (1) และให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ ก. จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลและรับผิดชอบของจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่นายเกษม ๒,๕๐๐ บาท โดยชี้ขาดว่าโจทก์เลิกจ้างนายเกษมเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ เพราะนายเกษมละทิ้งหน้าที่เกินกว่า ๓ วันติดต่อกัน โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ และโจทก์ไม่เคยไล่นายเกษมออกหรือปลดออก และไม่เคยบอกให้ออกจากงาน จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามฟ้องเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑ (๔) ประกอบด้วยมาตรา ๑๒๑ (๑),๑๒๔,๑๒๕ และ ๑๕๘ คำสั่งดังกล่าวเป็นอันถึงที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการ และให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ หรือไม่ และคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ว่า
๑. โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ หรือไม่ และ
๒. คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๕๒/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ตามฎีกาข้อแรก ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งให้ให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายแก่นายเกษมไม่ถูกต้อง ย่อมถือได้ว่าสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้ว โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
ส่วนฎีกาข้อต่อมาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า นายเกษมได้ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไปโดยมิได้ยื่นใบลาต่อหัวหน้าหน่วยและโจทก์ก็มิได้มีคำสั่งเลิกจ้างนายเกษม ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยเหตุนี้นายเกษม จึงยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามมาตรา ๑๒๔ ไม่ได้ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๕๒/๒๕๑๙ ที่ว่าโจทก์เลิกจ้างนายเกษมเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) และให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นายเกษมเป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาท จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
พิพากษายืน.