คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 62/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เด็กหนีจากบ้านไปตั้งแต่อายุ 12 ปี แม้ถูกล่ามโซ่ไว้ก็ยังหนีจนอายุ 18 ปี ไปรับจ้างขับรถยนต์บิดามารดาใช้ความระวังดูแลอย่างดีแล้ว นอกเหนืออำนาจของบิดามารดาจะระวังได้ บิดามารดาไม่ต้องรับผิดในละเมิดที่บุตรขับรถชนผู้อื่นโดยประมาท

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 46,724 บาท กับดอกเบี้ย จำเลยที่ 4 นายจ้าง กับจำเลยที่ 2, 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 2, 3 ไม่ต้องรับผิด พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อายุ18 ปี และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 4 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์รับคนโดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 มาตามถนนสายนครศรีธรรมราช – ลานสกา ระหว่างทางจำเลยที่ 1 โดยประมาทได้ขับรถชนท้ายรถยนต์ของนายสุธรรม สถิตย์ภูมิ ที่จอดอยู่ริมถนนด้านซ้าย และชนโจทก์ซึ่งกำลังยืนอยู่ท้ายรถนั้น จนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสกระดูกขาทั้งสองข้างแตกหัก แพทย์ของโรงพยาบาลนครศรีธรรมราชได้ตัดขาข้างซ้ายของโจทก์ตั้งแต่เหนือเข่าทิ้งไปส่วนขาข้างขวาแพทย์ใส่เหล็กดามไว้จนบัดนี้

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 4 มาประมาณปีเศษ จำเลยที่ 1 เคยพักบ้านจำเลยที่ 4 การขับรถจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็รู้เห็น และไม่คัดค้านอะไร

จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้พยายามปกครองจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมเรียนหนังสือ พอจบชั้นประถมปีที่ 4 หลบหนีเร่ร่อนไป จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ติดตามนำตัวกลับมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ครั้งหนึ่งได้เคยจับจำเลยที่ 1 ล่ามโซ่ไว้ แต่ครั้นพอแก้โซ่ออก จำเลยที่ 1 ก็หนีไปอยู่กับนายทิ้งบิดาจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 ได้พูดขอให้นายทิ้งช่วยดูแลจำเลยที่ 1 ไว้ตอนนั้นจำเลยที่ 1 มีอายุราว 11 – 12 ปี ตอนแรกจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเด็กประจำรถและล้างรถให้จำเลยที่ 4 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ได้ จำเลยที่ 4ก็ให้จำเลยที่ 1 ขับรถรับส่งคนโดยสารของจำเลยที่ 4 จนถึงเกิดเหตุคดีนี้เป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยผลที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 หลบหนีออกจากบ้านตั้งแต่ 11 – 12 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 พยายามติดตามเอาตัวกลับบ้านและให้เรียนหนังสือหลายครั้ง ถึงขั้นใช้โซ่ล่ามจำเลยที่ 1 ก็ยังหลบหนีและไปอยู่กับนายทิ้งบิดาจำเลยที่ 4 โดยเป็นเด็กประจำรถและช่วยล้างรถให้จำเลยที่ 4 ข้อที่จำเลยที่ 1 ไม่อยู่กับพ่อแม่หลบหนีไปอยู่กับนายทิ้งและจำเลยที่ 4 นั้น พันตำรวจตรีประวัติ วิสุทธิกุล พยานโจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวนก็เบิกความรับรองตามข้อนำสืบของจำเลยแม้แต่โจทก์เองก็ยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุปีเศษ เห็นจำเลยที่ 1 ไปอยู่บ้านจำเลยที่ 4 ดังนี้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยังหลบหนีออกจากบ้านไปอยู่กับนายทิ้งและจำเลยที่ 4 แสดงว่าสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้เป็นบิดามารดาจะควบคุมดูแลให้อยู่ในโอวาทได้แล้ว หากไม่ปล่อยให้ไปอยู่กับนายทิ้งและจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ก็ต้องหลบหนีเร่ร่อนไปยากแก่การติดตาม ทั้งจำเลยที่ 2 ได้เคยพูดฝากฝั่งนายทิ้งและจำเลยที่ 4ให้ช่วยดูแลจำเลยที่ 1 นับว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำหน้าที่บิดามารดาแล้ว ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 คงอยู่กับนายทิ้งและจำเลยที่ 4 ตลอดมาเช่นนี้ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาย่อมเป็นการนอกเหนืออำนาจและวิสัยที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะดูแลระมัดระวังได้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 หาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่”

พิพากษายืน

Share