คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อผลของคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 196,833.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 147,166.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่า คดีขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีสามารถชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่า คดีขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เป็นการชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์รับช่วงสิทธิของบริษัทเอ็ม ลิ้ง เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีต่อจำเลยตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมาฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัทเอ็ม ลิ้ง เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทเอ็ม ลิ้ง เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ปรากฏตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย เมื่อระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัทเอ็ม ลิ้ง เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทเอ็ม ลิ้ง เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน เป็นเงิน 49,667 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 196,833.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 147,166.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อคดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีโดยคู่ความยังไม่ได้สืบพยาน กรณีจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่
อนึ่ง เมื่อผลของคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่เท่านั้น อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ของแต่ละชั้นศาลแก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ของแต่ละชั้นศาลแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share