แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ให้บทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า ‘พนักงาน’ ไว้ให้หมายถึง บุคคลต่างๆ ตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย คือเป็นเจ้าพนักงานตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ฉะนั้น จำเลยจึงไม่เป็น ‘พนักงาน’ ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 แต่เพียงประการเดียว เมื่อจำเลยมิได้เป็น’พนักงาน’ ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรานี้ได้แล้วก็ต้องยกฟ้อง จะยกบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาขึ้นมาพิจารณาลงโทษจำเลยโดยโจทก์มิได้ขอมาไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยตำแหน่งช่างหล่อตัวพิมพ์ประจำโรงพิมพ์รถไฟมีหน้าที่นำตะกั่วตัวพิมพ์ที่เสียแล้วมาหล่อตัวพิมพ์ใหม่ จำเลยบังอาจเบียดบังตะกั่ว 24 ชิ้น ราคา 20 บาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และคืนตะกั่วของกลางแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์แล้วฟังว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างมีรายได้เป็นรายวันไม่ใช่พนักงาน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และมิใช่” เจ้าพนักงานตามกฎหมาย” จำเลยมีความผิดเพียงฐานยักยอกธรรมดา พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 คืนตะกั่วของกลางแก่เจ้าทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบหลักเกณฑ์ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ลงโทษจำเลยฐานเป็นพนักงานยักยอกตามมาตรา 4 ไม่ได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 บัญญัติว่า “พนักงานหมายความว่า ฯลฯ บุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐโดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งนี้ นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย”
มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494บัญญัติว่า “ให้ ฯลฯ พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา” และสำหรับคำว่า “พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย” พระราชบัญญัตินี้มิได้วิเคราะห์ศัพท์ไว้อย่างใด
ฉะนั้น เห็นได้ว่า เมื่อจำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่เป็นพนักงาน ตามความหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ฉะนั้น จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ตามที่โจทก์ขอมาในฟ้องนั้นมิได้
ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า คดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 4 ดังกล่าวแต่เพียงประการเดียว เมื่อจำเลยมิได้เป็น”พนักงาน” ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรานี้ได้แล้ว ก็ต้องยกฟ้องโจทก์จะยกบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญาขึ้นมาพิจารณาลงโทษจำเลยโดยโจทก์มิได้ขอมาไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เป็นกฎหมายกำหนดความผิดไว้เป็นพิเศษต่างหากจากความผิดของพนักงานหรือบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา คดีนี้จึงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษามานั้นมิได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์