คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ชายหรือหญิงที่ทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมาตรา 1497 ระบุว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ปรากฏว่าขณะที่ ท.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นท. มีคู่สมรสคือ ป. อยู่แล้ว การที่ ท. มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกโดยที่ยังมิได้หย่าขาดจาก ป. จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ท. กับ จ. ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ก็เป็นทายาทโดยธรรมของ ท.เมื่อท. ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ ท. โจทก์ทั้งเจ็ดจึงอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่าง ท. กับจำเลยเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทิ้งดิษฐเต้ยหลวง กับนางเจียม ดิษฐเต้ยหลวง ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2508 นางเจียมถึงแก่ความตายแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2515 นายทิ้งจดทะเบียนสมรสกับนางประจิม ดิษฐเต้ยหลวง (นางสาวประจิม กระบี่น้อย) แล้วนายทิ้งได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 หลังจากนั้นวันที่ 16 เมษายน 2541 นายทิ้งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1236/2541 ขอให้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายทิ้งโดยจำเลยอ้างว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทิ้งซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมฝ่ายเมืองของนายทิ้งกับมีสิทธิได้รับมรดกของนายทิ้งที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายทิ้ง ทั้งนี้ขณะนายทิ้งจดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นนายทิ้งมีนางประจิมเป็นคู่สมรสอยู่แล้ว การสมรสระหว่างนายทิ้งกับจำเลยเป็นโมฆะเนื่องจากฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 การกล่าวอ้างของจำเลยว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทิ้งเพื่ออ้างสิทธิในการรับมรดกส่วนที่นายทิ้งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ดังกล่าว มีผลกระทบถึงส่วนได้เสียของโจทก์ทั้งเจ็ดในการรับส่วนแบ่งมรดกของนายทิ้ง ขอให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างนายทิ้งกับจำเลยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 เป็นโมฆะ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสดังกล่าวเสีย

จำเลยให้การว่า ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายทิ้ง ดิษฐเต้ยหลวง นั้นนายทิ้งนำมรณบัตรของภริยาไปแสดง จำเลยจึงเชื่อโดยสุจริตใจว่านายทิ้งไม่มีคู่สมรสอื่นอยู่หลังจากนางประจิม ดิษฐเต้ยหลวง ทราบเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายทิ้งกับจำเลยแล้วนางประจิมก็ไม่ได้คัดค้าน จึงถือว่านางประจิมให้สัตยาบันและยอมรับการสมรสของนายทิ้งกับจำเลยดังกล่าว การสมรสระหว่างนายทิ้งกับจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ทั้งเจ็ดมิใช่คู่สมรสของนายทิ้งและมิได้เป็นทายาทของนางประจิม หากโจทก์ทั้งเจ็ดจะอ้างว่าการสมรสระหว่างนายทิ้งกับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งเจ็ดก็ต้องร้องขอต่อพนักงานอัยการให้เป็นตัวแทนในการฟ้องคดีฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดขาดอายุความ เนื่องจากคดีฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสมีอายุความ 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างนายทิ้ง ดิษฐเต้ยหลวง กับนางอมรศรี ดิษฐเต้ยหลวง (จำเลย)ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ตามทะเบียนที่ 107/3983 เมื่อวันที่ 8กรกฎาคม 2535 เป็นโมฆะ ให้แจ้งนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนท่าลี่ จังหวัดเลยเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส เมื่อคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างนายทิ้ง ดิษฐเต้ยหลวง กับนางอมรศรี ดิษฐเต้ยหลวง (จำเลย) ถึงที่สุด

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันฟังได้ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทิ้ง ดิษฐเต้ยหลวงกับนางเจียม ดิษฐเต้ยหลวง นางเจียมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514ต่อมาในวันที่ 5 เมษายน 2515 นายทิ้งจดทะเบียนสมรสกับนางประจิม ดิษฐเต้ยหลวงและในระหว่างที่การสมรสระหว่างนายทิ้งกับนางประจิมยังไม่สิ้นสุดลง นายทิ้งได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 แล้วต่อมาในวันที่ 16เมษายน 2541 นายทิ้งก็ได้ถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างนายทิ้งซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมิใช่คู่สมรสของนายทิ้งและไม่ใช่ทายาทของนางประจิมซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทิ้ง จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย และการที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายทิ้งก็เพื่อใช้สิทธิรับมรดกทั้งที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมและในฐานะทายาทโดยธรรม ไม่เป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ด และไม่ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียสิทธิในเรื่องการแบ่งมรดก เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ มาตรา 1495 บัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ และมาตรา 1497บัญญัติว่า การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืน มาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่นายทิ้งจดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้น นายทิ้งมีคู่สมรสคือนางประจิมอยู่แล้ว การที่นายทิ้งมาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกโดยมิได้หย่าขาดจากนางประจิมจึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทิ้งกับนางเจียม แต่ก็เป็นทายาทโดยธรรมของนายทิ้ง เมื่อนายทิ้งถึงแก่ความตายแล้วตามปกติโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมจะมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายทิ้ง โจทก์ทั้งเจ็ดจึงอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างนายทิ้งและจำเลยเป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามาแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share