แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นที่โจทก์จำเลยที่ 1 โต้เถียงกันในชั้นฎีกาตามฟ้องและฟ้องแย้งมีว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งหากที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาตามกฎหมายถ้าโจทก์ชนะคดีย่อมมีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทประโยชน์ที่โจทก์ได้ตามฟ้องหรือประโยชน์ที่จำเลยที่ 1ได้ตามฟ้องแย้งย่อมเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นการพิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของแห่งที่พิพาท จึงเป็นคำขอหรือคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะมีคำขอด้วยว่า ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารรุกล้ำออกไปจากที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องก็ดีหรือจำเลยที่ 1 จะมีคำขอตามฟ้องแย้งด้วยว่า ให้โจทก์รื้อถอนส่วนของอาคารที่รุกล้ำและออกไปจากที่พิพาทก็ดี ก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องในประเด็นหลักเรื่องที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพราะเมื่อรับฟ้องได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1ก็ต้องรื้อถอนอาคารออกไปในตัวหรือเมื่อรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามฟ้องแย้ง โจทก์ก็ต้องรื้อถอนบางส่วนของอาคารที่รุกล้ำและออกจากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปในตัว คำขอส่วนนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำขอที่ไม่มีทุนทรัพย์แยกต่างหากจากคำขอที่มีทุนทรัพย์ดังกล่าวและเมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฟ้องหรือตามฟ้องแย้งเป็นจำนวนไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินภายในเส้นสีเขียวกว้าง 6.20 เมตร ยาว20.80 เมตร ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 อยู่ในเขตเทศบาลปากพนัง ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งโจทก์ปลูกสร้างอาคารชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้องไว้จำนวน 3 คูหา ต่อมาปี 2532 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองปากพนัง ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ก่อสร้างอาคารตลาดอเนกประสงค์ลงบนที่ดินถนนสุนอนันต์อันเป็นเขตทางหลวงแผ่นดินจำเลยที่ 3 ทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ภายในเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 กว้าง 4 เมตร ยาว 20.80 เมตร และทำการก่อสร้าง โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังประกอบกับแรงสั่นสะเทือนของเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นเหตุให้กระเบื้องมุงหลังคาของโจทก์แตกเสียหาย 20 แผ่น เป็นเงิน 1,000 บาท และโครงสร้างอาคารของโจทก์เสียหายหลายแห่ง หากซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ทั้งยังเป็นการก่อสร้างอาคารปิดกั้นหน้าอาคารของโจทก์ เป็นเหตุให้ผู้เช่าต้องบอกเลิกสัญญาเช่า โจทก์จึงขาดประโยชน์จากการให้เช่าอาคารของโจทก์ในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,500บาท ซึ่งนับตั้งแต่โจทก์ทราบการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามเมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 เดือน เป็นเงิน16,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์ภายในเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้อง และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 22,500 บาท แก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินภายในเส้นสีเขียวกว้าง 6.20 เมตร ยาว 20.80 เมตร ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มิใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์และสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันโดยเป็นทางน้ำและที่ชายตลิ่งสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3ก่อสร้างอาคารตลาดอเนกประสงค์ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 18 เมตรลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้สั่งการหรือจ้างวานให้จำเลยที่ 3 ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดจนขณะลงมือก่อสร้างจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว มิได้กระทำให้กระเบื้องมุงหลังคาของโจทก์แตกหักเสียหาย ทั้งไม่ทำให้วัสดุอุปกรณ์โครงสร้างอาคารของโจทก์เสียหายแต่ประการใด จำเลยที่ 1 ขอฟ้องแย้งว่าที่ดินภายในเส้นสีเขียวกว้าง 6.20 เมตร ยาว 20.80 เมตร ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ระหว่างปี 2500เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันโจทก์ได้บุกรุกเข้าไปยึดครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวเพื่อปลูกอาคารไม้เรือนแถว 3 คูหา บนที่ดินนอกจากนี้บางส่วนของตัวอาคารและหลังคาอาคารของโจทก์ยังรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตคันหินอันเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นทางน้ำและที่ชายตลิ่งสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งรับโอนมาจากกรมทางหลวงเป็นเนื้อที่ 12.10 ตารางเมตร โดยโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำได้ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รื้อถอนอาคาร 3 คูหา ที่โจทก์ปลูกสร้างรุกล้ำออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1 และให้โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 รวมทั้งบางส่วนของตัวอาคารและหลังคาอาคารของโจทก์ที่รุกล้ำเข้ามาเป็นเนื้อที่ 12.10 ตารางเมตร ในเขตทางหลวงแผ่นดินที่กรมทางหลวงมอบให้จำเลยที่ 1 ดูแล
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ขณะทำการก่อสร้างอาคารตลาดอเนกประสงค์ตามฟ้องนั้น จำเลยที่ 3 ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี และมิได้ก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ กระเบื้องหลังคาและโครงสร้างอาคารของโจทก์ไม่เสียหาย โจทก์ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการนำอาคารออกให้เช่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์รื้อถอนบางส่วนของตัวอาคารและหลังคาอาคารทั้ง 3 คูหา ของโจทก์ที่รุกล้ำเข้าออกไปจากที่พิพาทเนื้อที่12.10 ตารางเมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 ครอบครองดูแลรักษาอยู่คำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมนายชัยณรงค์ สวัสดีนฤนาท ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า คดีโจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาหรือไม่ เฉพาะปัญหาในชั้นฎีกาโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เนื้อที่กว้าง 6.20 เมตร ยาว 20.80 เมตร อาคารของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ภายในเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เนื้อที่กว้าง 4 เมตร ยาว 20.80 เมตร อันเป็นที่พิพาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารและออกไปจากที่พิพาทกับห้ามเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาทมิใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 และบางส่วนของตัวอาคารกับหลังคาอาคารของโจทก์รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตคันหินอันเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับโอนมาจากกรมทางหลวงเป็นเนื้อที่ 12.10 ตารางเมตรขอให้ยกฟ้องและบังคับตามฟ้องแย้งให้โจทก์รื้อถอนบางส่วนของตัวอาคารกับหลังคาอาคารของโจทก์ที่รุกล้ำเข้ามาเนื้อที่ 12.10 ตารางเมตรและให้โจทก์กับบริวารออกไปจากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง ประเด็นที่โจทก์จำเลยที่ 1 โต้เถียงกันในชั้นฎีกาตามฟ้องและฟ้องแย้งมีว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งหากที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาตามกฎหมาย ถ้าโจทก์ชนะคดีย่อมมีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ประโยชน์ที่โจทก์ได้ตามฟ้องหรือประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้ตามฟ้องแย้งเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นการพิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของแห่งที่พิพาท จึงเป็นคำขอหรือคดีมีทุนทรัพย์แม้โจทก์จะมีคำขอด้วยว่าให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารรุกล้ำออกไปจากที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องก็ดี หรือจำเลยที่ 1 จะมีคำขอตามฟ้องแย้งด้วยว่า ให้โจทก์รื้อถอนส่วนของอาคารที่รุกล้ำและออกไปจากที่พิพาทก็ดี ก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องในประเด็นหลักเรื่องที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพราะเมื่อรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จำเลยที่ 1 ก็ต้องรื้อถอนอาคารออกไปในตัว หรือเมื่อรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามฟ้องแย้งโจทก์ก็ต้องรื้อถอนบางส่วนของอาคารที่รุกล้ำและออกจากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปในตัว คำขอส่วนนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำขอที่ไม่มีทุนทรัพย์แยกต่างหากจากคำขอที่มีทุนทรัพย์ดังกล่าว และเมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฟ้องหรือตามฟ้องแย้งเป็นจำนวน 124,800 บาท กล่าวคือไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่า อาคารและหลังคาอาคารของโจทก์มิได้รุกล้ำที่ดินที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้โจทก์