คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6181/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นการร้องขอเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนตามที่กฎหมายกำหนดไว้มิใช่กรณีที่ผู้ร้องมีคำขออย่างใดอย่างหนึ่งในทางที่จะเป็นการบังคับเอากับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุพการี แม้ผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาก็เป็นการกระทำของผู้คัดค้านเอง มิใช่การกระทำของผู้ร้อง ดังนั้น คดีของผู้ร้องจึงไม่เป็นอุทลุม ผู้คัดค้านแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องและผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินนับแต่ที่ผู้คัดค้านได้แสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์ให้จึงเป็นการเข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันนั้น เมื่อผู้ร้องได้ครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีดังนี้ ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบิดาของผู้ร้องคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์เป็นคดีอุทลุม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ตำบลลาดยาวอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เฉพาะส่วนที่ผู้ร้องครอบครองเนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ร.5เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมานั้นได้ความเป็นยุติว่าผู้ร้องเป็นบุตรผู้คัดค้าน ที่ดินโฉนดเลขที่127 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้ขออนุญาตปลูกสร้างบ้านในที่ดินดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2513 และปลูกสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2514 ผู้คัดค้านได้ทำบันทึกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านให้ผู้ร้องไว้ตามบันทึกเอกสารหมาย ร.2 ส่วนของที่ดินที่พิพาทโฉนดเลขที่ 127 ที่ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านและทำรั้วไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.5 ปัญหาวินิจฉัยคงมีว่า คดีของผู้ร้องเป็นอุทลุมหรือไม่และผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่
ปัญหาแรกนั้น คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ตามคำร้องของผู้ร้องนั้น เป็นการร้องขอเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่กรณีที่ผู้ร้องมีคำขออย่างใดอย่างหนึ่งในทางที่จะเป็นการบังคับเอากับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุพการีและถึงแม้ว่าผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามา ก็เป็นการกระทำของผู้คัดค้านเอง มิใช่การกระทำของผู้ร้อง และการที่ผู้คัดค้านเข้ามานั้น ก็มีผลเพียงทำให้คดีของผู้ร้องเดิมนั้นกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทขึ้นเท่านั้น แต่ผลของคดีตามคำขอของผู้ร้องก็คงเดิมคือไม่มีผลในทางที่จะบังคับเอากับตัวผู้คัดค้านเป็นบุพการีของผู้ร้องแต่ประการใด อันจะอยู่ในความหมายที่จะเรียกได้ว่าเป็นการฟ้องบุพการีของตนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ์ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้นคดีของผู้ร้องจึงไม่เป็นอุทลุม…”
ปัญหาประการที่สองนั้น ข้อที่จะชี้ให้เห็นว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่นั้น คงมีข้อโต้เถียงในชั้นฎีกา เพียงว่า ผู้คัดค้านได้แสดงเจตนายกที่ดินที่พิพาทให้ผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องเข้าไปบุกรุกสร้างบ้านในปี 2513 หรือไม่ พิเคราะห์ปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่า…ผู้คัดค้านได้สละกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่พิพาทนั้นให้เป็นของผู้ร้องแล้ว นับแต่วันที่ได้แสดงเจตนานั้นออกมาการที่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนนี้ นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้แสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์ให้จึงเป็นการเข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันนั้น ดังนั้น เมื่อผู้ร้องได้ครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382…”
พิพากษายืน.

Share