คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6178/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกจำเลยที่ได้อ่านคำพิพากษาในครั้งแรกให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี มาเป็นจำคุกคนละ 6 ปีเพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ เป็นการแก้ไขคำพิพากษาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นกระบวนพิจารณาอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เมื่อปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ดังกล่าวให้ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6)ประกอบมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) และมาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างรวม 3 กรรมต่างกันโดยระบุในคำฟ้องข้อ 1 ก. ข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค.สำหรับความผิดแต่ละกรรม ดังนี้คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2539เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 24 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 7,680 บาทของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต วันที่ 8 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 10 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,250 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้าง ไปโดยทุจริต และวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 12 กิโลกรัม ปลาหมึกหอมจำนวน 25 กิโลกรัม และเนื้ออกไก่จำนวน 6 กิโลกรัม คิดเป็นเงินรวม 7,882 บาทของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้เท่ากับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 รับว่าได้กระทำความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจริง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ทั้ง 3 กรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ทั้งสามกรรมตามฟ้อง ทรัพย์ที่จำเลยลักไปมีราคา เป็นเงิน 7,680 บาท 3,250 บาทและ 7,882 บาทซึ่งล่างทั้งสองพิพากษายืนโดยใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย เท่ากันทุกกระทงความผิดอันเป็นโทษที่หนักเกินไปและไม่เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดในแต่ละกรรม ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย ให้เหมาะสมแก่สภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแต่ละกระทงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335และ 83 และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงินรวม 18,812 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3
ระหว่างพิจารณา บริษัทลานนาฟูดส์เซอร์วิส จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) และ (11) วรรคสาม และ 83 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง คงจำคุกกระทงละ 4 ปี รวมลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนคิดเป็นเงินรวม 18,812 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อ 3 ของจำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์ในข้อ 3 ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ที่ได้อ่านคำพิพากษาในครั้งแรกให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปีมาเป็นจำคุกคนละ 6 ปี เพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ เป็นการแก้ไขคำพิพากษาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นกระบวนพิจารณาอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอำนาจในการแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลสูงขึ้นไป ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นและลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5สถานเบาและรอการลงโทษด้วย ซึ่งปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ดังกล่าวให้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าว ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6)ประกอบมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) และมาตรา 247 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างรวม 3 กรรมต่างกัน โดยระบุในคำฟ้องข้อ 1 ก. ข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. สำหรับความผิดแต่ละกรรมดังนี้คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2539 เวลา กลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 24 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 7,680 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต วันที่ 8 สิงหาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 10 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,250 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต และวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 12 กิโลกรัม ปลาหมึกหอม จำนวน 25 กิโลกรัม และเนื้ออกไก่จำนวน 6 กิโลกรัม คิดเป็นเงินรวม 7,882 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้ เท่ากับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 รับว่าได้กระทำความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจริงศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ทั้ง 3 กรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อ้างในอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาย่อของศาลชั้นต้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความโดยใช้ยาลบคำผิดแล้วลงตัวเลขจากลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี เป็น 12 ปีและจากข้อความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี เป็น 6 ปี และเพิ่มเติมข้อความใหม่ว่าเป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คงจำคุกกระทงละ 4 ปี ซึ่งไม่ตรงตามที่ได้อ่านให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ฟังเมื่อวันที่ศาลพิพากษานั้น ข้อนี้ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีคำพิพากษาย่อของศาลชั้นต้นอยู่ในสำนวนดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5คงมีเพียงหนังสือยืนยันการเข้าฟังคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่ 4และที่ 5 แนบมาท้ายฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เท่านั้นข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อ้างว่าศาลชั้นต้นมีหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาถึงผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี ซึ่งตรงกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้อ่านให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฟังนั้นกรณีอาจเป็นไปได้ว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 4และที่ 5 ฟังเพียงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพลดกึ่งแล้วคงจำคุกกระทงละ 2 ปี มิได้แจ้งโทษจำคุกที่ลงเมื่อรวมโทษทั้งสามกระทงเป็น 6 ปี ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฟังทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ก็อาจฟังคำว่า “กระทงละ” เป็นคำว่า “คนละ” ก็เป็นได้ จึงเข้าใจคลาดเคลื่อนไปส่วนการออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาก็อาจเป็นไปได้ว่าร่างคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่เขียนไว้ในครั้งแรกเขียนไว้เพียงว่าให้จำคุกจำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 รวม 3 กระทง กระทงละ 2 ปี เท่านั้นยังไม่ได้รวมโทษทั้งสามกระทงไว้ จึงเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้นข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 เพียงคนละ 2 ปี ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏฟังได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ทั้งสามกระทงความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ดี ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) และ (10) วรรคสามกำหนดระวางโทษจำคุกไว้ตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่2,000 บาท ถึง 14,000 บาท ปรากฏตามคำฟ้องว่าการกระทำความผิดทั้งสามกรรมทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ลักไปมีราคาเป็นเงิน 7,680 บาท 3,250 บาท และ 7,882 บาทตามลำดับ เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 กระทงละ 4 ปี เท่ากันทุกกระทงความผิดเป็นโทษที่หนักเกินไปและยังไม่เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดในแต่ละกรรม เห็นสมควรกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 ให้เหมาะสมแก่สภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 สำหรับกระทงแรกให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน กระทงที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี และกระทงที่ 3 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมเป็นโทษจำคุก 4 ปีเฉพาะจำเลยที่ 4 ซึ่งมีอายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้อีกกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76คงจำคุกกระทงแรก 9 เดือน กระทงที่ 2 จำคุก 6 เดือนและกระทงที่ 3 จำคุก 9 เดือน รวมเป็นโทษจำคุก 2 ปีส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษด้วยนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดในการลักทรัพย์ของนายจ้างถึง 3 ครั้ง โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ 1 ที่ 4และที่ 5 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 5สำหรับกระทงแรกมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน กระทงที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และกระทงที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน รวมเป็นโทษจำคุกมีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 4 ซึ่งมีอายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี ขณะกระทำความผิด เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 กระทงแรก 9 เดือน กระทงที่ 2 จำคุก 6 เดือน และกระทงที่ 3 จำคุก 9 เดือน รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษเห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 5 คนละ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share