คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ยาไซโมไซคลาประกอบด้วยเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัดโรคโดยตรง ส่วนทริปซินกับไซโมทริปซินหรือที่เรียกว่าเอนไซม์ ซึ่งประกอบอยู่ด้วยนั้นเป็นเพียงตัวช่วยหรือส่วนประกอบ จึงต้องถือว่าเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์มีลักษณะเป็นสาระสำคัญสำหรับยาชนิดนี้ ซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้าในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง(13) ในอัตราอากรร้อยละ 80 ของราคายาทั้งแคปซูล มิใช่คิดเฉพาะจากราคาของเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์เท่านั้น การที่จำเลยแจ้งในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเป็นยาเม็ดแก้อักเสบและชำระอากรร้อยละ 10 อย่างยาอื่นๆในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(32) ส่อแสดงเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการชำระอากรส่วนที่ขาด จะนำอายุความสองปีตาม พระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 112 มาใช้บังคับไม่ได้ ต้องใช้อายุความทั่วไปคือสิบปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระภาษีอากรแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระ 472,695 บาท 17 สตางค์ และจำเลยที่ 2 ชำระ 160,764 บาท 94 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาว่าสินค้ายาไซโมไซคลาที่จำเลยทั้งสองสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียอากรขาเข้าในประเภทพิกัดอัตราใด ข้อเท็จจริงได้ความว่ายาไซโมไซคลาดังกล่าวบรรจุในแคปซูลประกอบด้วยตัวยาเตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นผง กับยาเม็ดซึ่งเรียกว่าเอนไซม์อีก 1 เม็ด ยาเม็ดเอนไซม์ประกอบด้วยตัวยาทริปซินกับไซโมทริปซิน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2505 มาตรา 3 กำหนดว่ายารักษาโรครวมทั้งยารักษาสัตว์อยู่ในประเภทพิกัดที่ 30.03 โดยเฉพาะในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(13) ได้กำหนดไว้ว่าเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดแคปซูลให้เสียอากรร้อยละ 80 ส่วนประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(32) นั้นได้กำหนดไว้ว่า ยาอื่น ๆ ให้เสียอากรในอัตราร้อยละ 10 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตีความพิกัดอัตราศุลกากรไว้ในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดดังกล่าว โดยหลักเกณฑ์การตีความในข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า “ข้อความในประเภทที่กล่าวถึงวัตถุหรือสารชนิดใดให้หมายความถึงสิ่งผสมหรือสิ่งประกอบที่มีวัตถุหรือสารชนิดนั้นปนอยู่กับวัตถุหรือสารชนิดอื่นด้วย

เมื่อกล่าวถึงของที่ทำด้วยวัตถุหรือสารใด ให้หมายถึงของทั้งที่ทำด้วยวัตถุหรือสารนั้นทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนด้วย การจำแนกประเภทของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไปให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3”

ข้อความในข้อ 3 กำหนดไว้ว่า “ถ้าเห็นได้ว่าของชนิดใดอาจจัดเข้าได้สองประเภทหรือมากกว่านั้น จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ให้ถือหลักการจำแนกประเภทดังนี้

ก. ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยชัดแจ้ง และอีกประเภทหนึ่งระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดเข้าในประเภทที่ระบุไว้โดยชัดแจ้ง

ข. ของที่ผสมหรือประกอบด้วยวัตถุต่างชนิดกัน หรือประกอบด้วยส่วนควบต่างชนิดกัน ซึ่งไม่อาจจำแนกประเภทตามความในข้อ (ก)ได้ให้จัดเข้าในประเภทของวัตถุหรือส่วนควบที่มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญสำหรับของชนิดนั้นเท่าที่จะใช้หลักเกณฑ์นี้บังคับได้”

ยาไซโมไซคลาประกอบด้วยเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์กับทริปซินและไซโมทริปซินซึ่งเป็นยาที่ผสมหรือประกอบด้วยวัตถุต่างชนิดกันจะต้องเสียอากรในประเภทใด ก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์การตีความในข้อ 3(ข) ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าตัวยาใดเป็นวัตถุที่มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญ ได้ความว่ายาไซโมไซคลานี้มีคุณสมบัติแก้การอักเสบตามหนังสือของนายประพัฒน์ ชมวิทย์ เภสัชกรผู้มีหน้าที่ควบคุมการขายยาของจำเลยที่ 2 ที่ชี้แจงไปยังผู้อำนวยการกองพิกัดกรมศุลกากรตามเอกสารหมาย จ.26 ว่า ทริปซินกับไซโมทริปซินซึ่งเรียกว่าเอนไซม์นั้น เป็นตัวยาที่ช่วยทำให้เตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่าปกติ แสดงว่าตัวยาที่มีคุณสมบัติในการบำบัดโรคโดยตรงคือเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ส่วนทริปซินกับไซโมทริปซินหรือที่เรียกว่าเอนไซม์นั้น เป็นเพียงตัวช่วยหรือส่วนประกอบ จึงต้องถือว่าเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์มีลักษณะเป็นสาระสำคัญสำหรับยาชนิดนี้ ซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้าในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(13) ในอัตราอากรร้อยละ 80 ของราคายาทั้งแคปซูล มิใช่คิดเฉพาะจากราคาของเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์เท่านั้น ที่จำเลยเสียอากรขาเข้าไว้ในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(32) จึงไม่ถูกต้องโจทก์มีอำนาจเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มให้ถูกต้องได้ แม้จะเป็นการเก็บย้อนหลัง

ปัญหาต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 112 หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยนำสินค้าเข้าโดยทำใบขนสำแดงรายการครบถ้วน เจ้าพนักงานศุลกากรทำการตรวจสอบและรับชำระภาษีอากรแล้ว ไม่เป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 8 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องคืนเงินอากรที่เสียเกินไปเฉพาะในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด และสิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุดังกล่าวนั้นเป็นอันขาดอายุความเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก แต่บทบัญญัตินี้มิให้ใช้แก่การเก็บอากรซึ่งมีผู้ได้หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง” ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ค้ายาประเภทนี้ย่อมจะทราบดีว่า ยาไซโมไซคลานี้มีเตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นตัวยาที่มีคุณสมบัติในการบำบัดโรคโดยตรง มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญ ส่วนเอนไซม์เป็นเพียงตัวช่วยให้เตตราไซคลีนไฮโดรคลอไรด์มีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคดีขึ้น การนำเข้าจะต้องเสียอากรในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(13)อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคายาทั้งแคปซูล แต่จำเลยทั้งสองได้แจ้งในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเป็นยาเม็ดแก้อักเสบจะต้องชำระอากรอย่างยาอื่น ๆ ในประเภทพิกัดที่ 30.03 ง.(32) ซึ่งไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง การกระทำของจำเลยทั้งสองส่อแสดงเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการชำระอากรส่วนที่ขาด จะนำอายุความสองปีตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 112 มาใช้บังคับไม่ได้ ต้องใช้อายุความทั่วไปคือสิบปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share