คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันถูกต้องตามกฎหมาย กำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ในวันครบกำหนดได้ตกลงขยายการไถ่ถอนกันด้วยปากเปล่าต่อไป 1 ปี ครั้นครบกำหนดได้ตกลงทำหนังสือว่ายอมให้ต่อการไถ่ถอนกันไปอีก 1 ปี ต่อมาภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนครั้งที่ 2 ผู้ขายฝากไปขอไถ่ถอนดังนี้ ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นการขยายเวลาการไถ่ถอนการขายฝาก ไม่ใช่เป็นเรื่องคำมั่นจะขายทรัพย์ที่ขายฝาก
เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนการขายฝาก จะตกลงขยายเวลาการขายฝากในภายหลังไม่ได้ ขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 13 ส.ค. 96 โจทก์ขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยทำกันต่อพนักงานหอทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 13 ส.ค. 97 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา โจทก์ไม่มีเงินไถ่ถอนจำเลยตกลงต่ออายุสัญญาขายฝากให้กับโจทก์อีก 1 ปี ครบกำหนด โจทก์ยังหาเงินไม่พอมาไถ่ถอนได้ ในวันที่ 13 ส.ค. 98 จำเลยและสามีของจำเลยได้ทำหนังสือต่ออายุสัญญาให้อีก 1 ปี ในระหว่างเวลาที่ต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 นี้โจทก์ได้นำเงินมาชำระให้จำเลยเรื่อย ๆ คงค้างชำระเพียง 11,000 บาท โจทก์นำเงินที่ค้างดังกล่าวไปชำระให้จำเลยและให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับเงิน โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า โจทก์ขอต่ออายุสัญญาขายฝากเมื่อพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว 20 วัน จำเลยได้บอกให้โจทก์เอาเงินคืนเต็มตามที่ขายฝากแล้วทำการขายฝากกันใหม่ โจทก์ตกลง จำเลยจึงทำหนังสือสัญญาให้โจทก์เป็นคำมั่นว่าจะให้ต่ออายุ ต่อมาโจทก์มาบอกว่าไม่มีเงินไถ่ถอน จึงเป็นอันไม่มีการไถ่ถอน และที่จำเลยและสามีจำเลยทำหนังสือให้โจทก์ในวันที่ 13 ส.ค. 98 นั้น เพราะบุตรโจทก์มาหลอกลวงและโจทก์ไม่เคยเอาเงินมามอบให้จำเลย

ในวันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่า ในวันที่ 13 ส.ค. 97 โจทก์จำเลยได้ตกลงขยายอายุการไถ่ถอนการขายฝากรายนี้ไปอีก 1 ปี โดยตกลงด้วยปากเปล่า และต่อมาวันที่ 13 ส.ค. 98 โจทก์จำเลยตกลงต่ออายุการไถ่ถอนไปอีก 1 ปี คือถึงวันที่ 13 ส.ค. 99 ซึ่งจำเลยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้ ส่วนข้อเท็จจริงนอกจากนี้คู่ความโต้เถียงกัน

ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน วินิจฉัยว่าการขยายต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 โจทก์จึงไม่มีสิทธิไถ่ถอน พิพากษายกฟ้องโจทก์

อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เห็นว่า เอกสารที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้นั้นไม่เป็นการขยายเวลาการไถ่ถอนการขายฝาก เพราะล่วงเลยกำหนดเวลาไถ่มา 1 ปีแล้ว จึงไม่มีอะไรมาขยายกันต่อไป เมื่อพิจารณาประกอบฟ้องและคำให้การโดยอาศัยหลักการตีความ เป็นเรื่องจำเลยให้คำมั่นกับโจทก์โดยจะยอมขายที่ดินที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยเด็ดขาดในราคาเท่าที่จำเลยซื้อไว้ คดีจึงควรต้องฟังข้อเท็จจริงกันต่อไป

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่า ตามที่คู่ความแถลงรับกันแสดงว่าเป็นเรื่องการตกลงขยายเวลาการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากกัน ไม่ใช่คำมั่นจะขายทรัพย์ที่ขายฝากซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยเด็ดขาดแล้วให้แก่โจทก์ การที่คู่ความตกลงกันก็อยู่ในหลักเกณฑ์เรื่องการขายฝาก จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยการขายฝาก เมื่อฟังว่าเป็นการตกลงขยายเวลาไถ่ จึงเป็นการขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496

Share